สาธารณสุข เผยผลการตรวจสอบสารปนเปื้อน 6 ชนิดในอาหารสด รอบ 9 เดือน พบร้อยละ 99 ผ่านเกณฑ์ไร้การปนเปื้อน ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตรวจพบยาฆ่าแมลงในผักชีมากที่สุด รองลงมาพบในพริกชี้ฟ้าแดง พริกเหลือง กุ้งแห้ง หมึกกะตอย ปลาอินทรีย์เค็ม พบสารบอแรกซ์ในเนื้อหมู เนื้อปูแกะ พบฟอร์มาลินในหมึกแช่ด่าง ปลาหมึกกล้วย ขิงอ่อนซอย ขณะนี้ร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย รู้ผลรวดเร็ว นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากร้านอาหารมีจำนวนมาก และขณะนี้ตามชนบทต่างๆมักจะนิยมจัดตลาดนัด มีสินค้าต่างๆจำนวนมากราคาค่อนข้างต่ำ บางครั้งมองตาเปล่าไม่รู้ว่าอาหารมีความปลอดภัยหรือไม่ เพื่อร่วมกันรณรงค์คุ้มครองประชาชนให้ได้บริโภคอาหารปลอดภัยและมีสุขภาพดี กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ “โครงการรณรงค์ทำดีเพื่อแม่ อาหารปลอดภัย” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยเรื่องความปลอดภัยอาหาร ทั้งยังทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างในการเสวย โดยจัดทำไปรษณียบัตร 1 ล้านฉบับ ส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง ให้ผู้ประกอบการอาหารและประชาชน ร่วมเขียนบันทึกกิจกรรมการทำความดี แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสุขภาพและความปลอดภัยผู้บริโภคในไปรษณียบัตร และส่งกลับไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา หลังจากนั้นจะรวบรวมรายชื่อ พร้อมผลการดำเนินงานเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จแม่แห่งแผ่นดิน ในวันที่ 12 สิงหาคม 2552 นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขเร่งรณรงค์ความร่วมมือให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้การดูแลคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในเขตเทศบาล และชนบทต่างๆ ทุกแห่ง ทำการเฝ้าระวังตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายที่ผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ชุดทดสอบสารบอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารกันรา ยาฆ่าแมลง ซึ่งมีราคาถูกและมีขั้นตอนตรวจสอบง่าย รู้ผลรวดเร็ว เพื่อกำจัดอาหารที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด หน่วยงานในท้องถิ่นจึงต้องมีเครื่องมือในการเฝ้าระวังความปลอดภัยต่อประชาชนในชนบทด้วย ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนอันตราย 6 ชนิดในอาหารสด ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง บอแรกซ์ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารกันรา และยาฆ่าแมลง โดยหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ตุลาคม 2550-มิถุนายน 2551 ได้ตรวจตัวอย่างทั้งหมด 56,425 ตัวอย่าง พบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 99.25 ไม่ผ่านเกณฑ์ 421 ตัวอย่าง โดยตรวจพบยาฆ่าแมลง 352 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นผักสด พบมากที่สุดในผักชี จำนวน 47 ตัวอย่าง รองลงมาคือพริกชี้ฟ้าแดง 24 ตัวอย่าง พริกเหลือง 16 ตัวอย่าง พริกขี้หนูแดงใหญ่ 13 ตัวอย่างและยังตรวจพบในกุ้งแห้ง หมึกกะตอย ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาแดดเดียวเช่น ปลาสลิด ปลาสละ ปลานิล อย่างละ 1-2 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังตรวจพบสารบอแรกซ์ 56 ตัวอย่าง พบมากที่สุดในเนื้อหมู 10 ตัวอย่าง เนื้อหมูบด 6 ตัวอย่าง ที่เหลือพบในเนื้อปูแกะ ปลาดุกย่าง ขนมถ้วยแคระ ตรวจพบฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่างในหมึกแช่ด่าง ปลาหมึกกล้วย ขิงอ่อนซอย ส่วนสารเร่งเนื้อแดงพบ 4 ตัวอย่างในเนื้อหมูทั้งหมด และสารกันรา 1 ตัวอย่างพบในพริกแกงเขียวหวาน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดการแก้ไขถึงแหล่งผลิตแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการตรวจเฝ้าระวังโดยรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ ซึ่งยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ หากหน่วยงานปก ครองส่วนท้องถิ่นได้มีการเฝ้าระวังโดยใช้ชุดทดสอบตรวจ มั่นใจได้ว่าจะสามารถขจัดสารอันตรายปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ********************* 28 ธันวาคม 2551


   
   


View 6    28/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ