กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งส่งทีม SEhRT ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เฝ้าระวังคุมเข้มมาตรการป้องกันการเกิดก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลโรงงานน้ำแข็งในพื้นที่รับผิดชอบ จากกรณีเกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล ในโรงน้ำแข็งเจริญทรัพย์ พื้นที่ของหมู่ 10 บ้านทรัพย์เจริญ ตำบลศรีสำราญ อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พบว่า สาเหตุของการเกิดภาวะฉุกเฉินดังกล่าว เกิดจากถังจ่ายก๊าซแอมโมเนียในกระบวนการผลิตน้ำแข็งเกิดการรั่วไหล ส่งผลให้ก๊าซแอมโมเนียฟุ้งกระจายไปทั่วยังพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงงาน ส่งผลให้คนงานและประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการสูดดมกลิ่นก๊าซแอมโมเนีย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 26 ราย ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้มีการประสานเครือข่าย อสม. ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในชุมชนอย่างใกล้ชิด พร้อมสื่อสารให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ประสานงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี ลงพื้นที่สำรวจ เฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงงานและชุมชนใกล้เคียง ขณะนี้ ได้มีการสั่งปิดโรงงานน้ำแข็งและหยุดการผลิตน้ำแข็งแล้ว และยังพบว่าโรงงานน้ำแข็งดังกล่าวไม่ได้มีการขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม จากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ทั้งนี้ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ได้สำรวจพื้นที่รอบโรงงาน พบว่า โรงงานแห่งนี้ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย มีการระบายน้ำเสียลงสู่ระบบระบายน้ำของเทศบาลตำบลนางัวเท่านั้น และจากการตรวจค่า pHในน้ำเสีย พบว่ามีค่าปกติ จึงไม่พบการปนเปื้อนของสารแอมโมเนียในแหล่งน้ำสาธารณะในชุมชน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์โรงน้ำแข็งเกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในขณะผลิตน้ำแข็งหลายพื้นที่
ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมกำกับการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้อนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้แจ้งให้ผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งในพื้นที่ทุกแห่ง ตรวจสอบ เครื่องจักรเครื่องมือ อุกปรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนระบบความดัน ระบบท่อส่งก๊าซ ในทุกจุดที่เป็นความเสี่ยงโดยให้มีการแจ้งผลการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเป็นการควบคุมกำกับการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด หากพบการชำรุดแตกร้าวหรือเสียหายให้รีบซ่อมแซมแก้ไขโดยทันที เพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉินจากการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนีย ไปยังชุมชนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 27 เมษายน 2567

 

 



   
   


View 191    27/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ