กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 14 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ประกอบการโรงน้ำแข็งทั่วประเทศ เฝ้าระวังเหตุแอมโมเนียรั่วไหลซ้ำ พร้อมมอบทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยทุกพื้นที่ ปฏิบัติการเชิงรุกประสานภารกิจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เร่งตรวจตรา ควบคุม และกำกับกระบวนการผลิตภายในสถานประกอบกิจการผลิตน้ำแข็งทั่วประเทศให้มีความปลอดภัย เพื่อลดและป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเครื่องจักรและระบบท่อก๊าซต่างๆเกิดการชำรุด เสียหาย เนื่องจากโรงงานเร่งผลิตน้ำแข็งในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในช่วงหน้าร้อน ประกอบกับผู้ประกอบกิจการมีการเฝ้าระวัง ตรวจตราระบบต่างๆ ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล เป็นอันตรายต่อประชาชนที่อาศัยโดยรอบ และอาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุก๊าซพิษดังกล่าวจะกระจายไปทั่วบริเวณ เมื่อประชาชนสัมผัส สูดดมจึงได้รับผลกระทบ และมีอาการทางสุขภาพแสดงได้อย่างชัดเจน ทั้งแสบตา แสบผิวหนัง หายใจไม่สะดวก มีกลิ่นเหม็นฉุนสารเคมี บางรายที่มีภาวะเจ็บป่วยหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
“กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายทีมปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ปฏิบัติการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกภาคส่วน เร่งประเมินความปลอดภัย ความเสี่ยงจากความเสียหายของกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการดังกล่าว ภายใต้กลไกการควบคุม กำกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง เป็นสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ประเภทการผลิตน้ำแข็ง โดยให้มีการดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้อนุญาตการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการผลิตน้ำแข็ง มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการทุกแห่งให้ปฏิบัติตามมาตรการ ได้แก่ การตรวจตรา ควบคุม กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเป็นประจำทุกวัน และรายงานผลการตรวจตราระบบไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียของสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตรวจสอบระบบท่อส่งก๊าซแอมโมเนีย ข้อต่อเครื่องจักร ถังบรรจุก๊าซ อุปกรณ์ และพื้นที่จัดเก็บสารเคมีให้อยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุด ผุ กร่อน แตกร้าว หรือเสี่ยงระบบไฟฟ้าขัดข้องและมีการจัดทำแผนและทำการซ้อมแผนรับมือภาวะฉุกเฉิน 2) ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งให้มีการวางแผน กำหนดมาตรการรับแจ้งข้อมูลจากพื้นที่ มาตรการแจ้งเตือนภัยความเสี่ยงสุขภาพประชาชน ลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัย พร้อมสนับสนุนการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และการดูแลสุขภาพประชาชนในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีรั่วไหล เพื่อให้ทั้งประชาชนมีความปลอดภัย มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดความเสี่ยงสุขภาพของตนเองและครอบครัวและขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับโรงงานผลิตน้ำแข็ง ติดตามข่าวสาร สถานการณ์จากหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากมีการแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสารแอมโมเนียรั่วไหล หรือเกิดสารเคมีรั่วไหลและมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการสัมผัส พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการผิดปกติของตนเองและครอบครัว หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
***
กรมอนามัย / 30 เมษายน 2567