กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนโครงการสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ ในปี 2567 ส่งเสริมเด็กไทยมีวินัย รักสุขภาพ ออกกําลังกายสม่ำเสมอ ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อเติบโตสมวัย ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพดี


          วันนี้ (2 พฤษภาคม 2567) พลอากาศเอกนายแพทย์สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เชิงปฏิบัติการการส่งเสริมสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ (Thailand 10 for Health) ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบ Facebook Live กองอนามัยวัยเรียนวัยรุ่น ว่ากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเมืองไทยประกันภัย ได้ร่วมกันดำเนินโครงการสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ (Thailand 10 for Health) โดยสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี มีพระราชจริยาวัตรเรื่องออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอ และน้อมนำแนวพระราชดำริ “จิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อส่งเสริมสนับสนุน ให้ประชาชนดูแล ใส่ใจรักษาสุขภาพ เริ่มปลูกฝังในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็น “จิตอาสาด้านสุขภาพ” ให้สามารถดูแลสุขภาพของตนเอง มีจิตใจเอื้ออารี พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น ตามแนวปฏิบัติเพื่อสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ จะส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทย มีความพร้อมในทุกมิติ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป
          ทางด้าน แพทย์หญิงอัจรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทาง “ส่งเสริมสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ” ด้วยการยกระดับการดำเนินงานบูรณาการผ่านโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล (Global Standards for Health Promoting School : GSHPS) มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของโรงเรียนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาสุขภาพควบคู่ไปกับการศึกษา โดยการยกระดับการดำเนินงานดังกล่าว จะเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วย 4 H ได้แก่ Head : เก่ง ฉลาด มีความรู้ความสามารถ Heart : เป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและส่วนรวม Hand : มีทักษะด้านอาชีพ ใช้ความสามารถตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และ Health : แข็งแรง รอบรู้ พฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม สุขภาพดี และตั้งเป้าหมายในปี 2567 สถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ ฯ จำนวน 1,000 แห่ง เพื่อสร้างนักเรียนจิตอาสาเป็นแกนนำด้านสุขภาพ จำนวน 10,000 คน
          “ทั้งนี้ แนวปฏิบัติสุขภาพดีด้วยหลัก 10 อ ประกอบด้วย 1) อ อาหาร เพื่อน (ตาย) ต้องการสารอาหารที่มีสารอาหารครบหมู่ 2) อ (ไม่) อดนอน เพื่อน (ตาย) ต้องการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 3) อ ออกกำลังกาย เพื่อน (ตาย)ต้องแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย 4) อ เช็คอัพ (ตรวจร่างกาย) เพื่อน (ตาย) ต้องการให้ตรวจสภาพร่างกายเป็นประจำ 5) อ (ติด) อาวุธ เพื่อน (ตาย) ต้องการติดอาวุธป้องกันตัวด้วยการรับวัคซีน 6) อ (ไม่อ้วน) เพื่อน (ตาย) ไม่ต้องการเป็นโรคที่มากับความอ้วน 7) อ อันตราย 1 สารและสิ่งอันตราย (แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด สารอันตรายปนเปื้อนในอาหาร) เพื่อน (ตาย)ไม่ต้องการรับสารอันตรายเข้าร่างกาย 8) อ อันตราย 2 พฤติกรรมเสี่ยง (ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ความปลอดภัยบนถนน จมน้ำ บาดเจ็บอื่น (ไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต ตกจากที่สูง สิ่งของล่นทับ สัตว์กัดต่อย) คุณภาพน้ำดื่ม และอนามัยสิ่งแวดล้อม) เพื่อน (ตาย) ไม่ต้องการเสี่ยง ด้วยกิจกรรมอันตราย 9) อ อารมณ์ เพื่อน (ตาย) ต้องการอารมณ์ดี จะได้มีความสุขด้วย และ 10) อ อาสา คือการทำดีด้วยหัวใจ บอกต่อแนวปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดี 10 อ ให้แก่คนใกล้ชิด เป็นวิถีปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
          ทางด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม รวมถึงการสร้างเสริมทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพตั้งแต่วัยเด็ก โครงการฯ นี้เป็นตัวอย่างการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระบบโรงเรียน ให้เด็กได้ปฏิบัติจริงได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นนโยบายนำร่องระดับโรงเรียนและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพดี ภายใต้หลัก 10 อ เด็กจะสามารถสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตัวเอง เป็นรากฐานที่ดีให้เกิดการมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ สร้างจิตสำนึกทางสุขภาพที่ดูแลสุขภาพได้ดี (Health Conscious) นำไปสู่การเป็นพลเมืองด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (Active Citizen) ส่งต่อข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องให้กับคนรอบข้าง ขยายผลการสร้างเสริมขีดความสามารถของบุคคล ช่วยสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
          ทางด้าน นางเยาวรัช ปรีดาพันธุ์ รองผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ตระหนักถึงความสำคัญในการเชื่อมต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน สพฐ. พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้วยการส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ พัฒนาและขับเคลื่อนภายใต้การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาพ ตามแนวคิด Active Learning และบูรณาการงานด้านจิตอาสาสุขภาพ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่นักเรียนทุกคน ให้มีสุขภาพกายและจิตดี ร่างกายแข็งแรง เจริญเติบโต สมวัย
          ทางด้าน นายทวีศักดิ์ อำลา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ สช. พร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการส่งเสริมให้โรงเรียนเอกชนร่วมดำเนินงานตามแนวทางสุขภาพดีด้วยทฤษฎีเพื่อน (ตาย) ด้วยหลัก 10 อ ภายใต้การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เสริมสร้างการจัดการเรียนรู้สุขภาพที่เหมาะสมในโรงเรียน

***

กรมอนามัย / 2 พฤษภาคม 2567



   
   


View 237    02/05/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ