กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในช่วงเปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเริ่มเข้าหน้าฝน จึงขอความร่วมมือประชาชนและสถานศึกษาช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณรอบๆ ชุมชน สถานศึกษา และบริเวณบ้าน โดยการเก็บของให้เป็นระเบียบ และป้องกันตนเอง  ไม่ให้ยุงกัด

          วันนี้ (3 พฤษภาคม 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ  ประเทศไทย ซึ่งมีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 26,511 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 67) ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 1.6 เท่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี จำนวน 7,782 ราย (ร้อยละ 29) และพบผู้เสียชีวิตจำนวน 29 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป (ร้อยละ 0.41) ประกอบกับช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นช่วงที่เด็กนักเรียนเริ่มเปิดเทอม โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน และจากผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พบสูงสุดในกลุ่มโรงเรียนและโรงธรรม จึงขอให้ทุกสถานศึกษาเร่งสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทุกสัปดาห์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด เมื่อเปิดเทอมเด็กนักเรียนจะได้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก

          กรมควบคุมโรค ขอย้ำเตือนให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก (หลังผ่านระยะฟักตัวในยุง) ให้ผู้อื่นได้ การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้

          นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/อาคาร)  2.โรงเรียน/สถานศึกษา  3.โรงพยาบาล  4.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)  5.โรงแรม/รีสอร์ท  6.โรงงาน และ  7.ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการรวมตัวกันของประชาชน ถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

          แพทย์หญิงจุไร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา ทั้งนี้ หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567



   
   


View 215    03/05/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ