แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดของถังจัดเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน ในบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันไฟสีดำจำนวนมากฟุ้งกระจายโดยรอบ มีการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมาก ส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนตากวน อ่าวประดู่ โสภณ และหนองแฟบ เบื้องต้นได้มีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอพยพโดยเร่งด่วนแล้ว และจัดตั้งศูนย์อพยพเพื่อช่วยเหลือประชาชน จำนวน 3 แห่ง คือ โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร วัดพลา และบริเวณหาดน้ำริน ซึ่งวานนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว

           แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถือเป็นเหตุการที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจำนวนมาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายพื้นที่ดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านบริหารจัดการ และเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ PHEOC สำหรับด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ร่วมกับทีมจังหวัด และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สำรวจและประเมินการจัดการด้านสุขาภิบาลภายในศูนย์อพยพโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ประเมินสุขลักษณะห้องน้ำห้องส้วม การจัดการขยะภายในศูนย์อพยพ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงโรคระบาด และลดความแออัดของผู้อพยพ  พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเองจากควันพิษและสารเคมี

          “ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้ผู้ประกอบการสถานประกอบกิจการโรงงานต่างๆ ที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินทั้งจากสารเคมีรั่วไหลไฟไหม้และระเบิด ต้องหมั่นดูแลตรวจตราเฝ้าระวังอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือในทุกขั้นตอนของการผลิต เพื่อให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ชำรุดเสียหายจนก่อให้เกิดภัยพิบัติซ้ำ และขอให้ประชาชน หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากควันไฟหรือไอระเหยสารเคมี และให้รีบออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน
เมื่อได้รับการแจ้งเตือน หมั่นสังเกตอาการ ผิดปกติของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการ หายใจลำบากแน่นหรือเจ็บหน้าอก ระคายเคืองตามร่างกาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่และไปพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตามเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สิ่งสำคัญ คือ การเอาตัวรอดหลีกเลี่ยงการเผชิญสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ควรมีการจัดการฝึกซ้อมการอพยพการเรียนรู้การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆ เพื่อให้กับประชาชนรู้ทางหนีทีไล่ รู้จักการเอาตัวรอดอย่างปลอดภัย ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

                                                                                             กรมอนามัย / 10 พฤษภาคม 2567



   
   


View 174    10/05/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ