ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ TO BE NUMBER ONE ประจำปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 99 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการดูแลประชาชนจากเหตุพายุฤดูร้อนในจังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ได้รับบาดเจ็บ 65 ราย กลับบ้านได้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียง 1 รายที่ยังอยู่ในการดูแล ส่วนผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ 180 ราย ทีม MCATT ยังติดตามดูแลต่อเนื่องและประเมินระดับความเครียดซ้ำเป็นระยะ ขณะที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์และโรงพยาบาลลับแล ซึ่งเสียหายหลายจุดได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อย กลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติ
วันนี้ (12 พฤษภาคม 2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงความคืบหน้าการดูแลประชาชนจากเหตุพายุฤดูร้อนในจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการซ่อมแซมสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย และการเยียวยาบุคลากรที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมอบหมาย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ติดตามสถานการณ์ พบว่ามีประชาชนได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 65 ราย ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ 64 ราย เหลือ 1 รายที่ยังอยู่ในการดูแล จากการส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือ MCATT เข้าไปประเมินระดับความเครียดประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 1,868 ราย พบผู้มีความเครียดปานกลาง 156 ราย เครียดมาก 18 ราย และเครียดมากที่สุด 6 ราย ซึ่งจะมีการติดตามดูแลต่อเนื่องและประเมินระดับความเครียดซ้ำเป็นระยะ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายในจังหวัดอุตรดิตถ์รวม 21 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 4 แห่ง โรงพยาบาล 9 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 7 แห่ง โดยโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และโรงพยาบาลลับแล ที่ได้รับความเสียหายหลายจุด ได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงส่วนที่รองรับผู้ป่วยจนกลับมาใช้งานได้ตามปกติทั้งหมดแล้ว เช่น ตึกศัลยกรรมชาย ตึกศัลยกรรมหญิง ตึกอายุกรรมชาย ตึกอายุรกรรมหญิง ตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน สำหรับส่วนอื่นที่ได้รับความเสียหายด้วยอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ซึ่งเหตุการณ์นี้มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับผลกระทบด้านที่พักอาศัยด้วย จำนวน 56 ราย ได้สั่งการให้หน่วยงานต้นสังกัดดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่ประสบภัยต่างมีขวัญและกำลังใจดี หลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในการดูแลรักษาพยาบาลและปกป้องผู้ป่วยขณะเกิดเหตุ และได้มีการถอดบทเรียน พบว่าการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินที่เกิดภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่สำคัญ และการมีแผนฉุกเฉินรวมทั้งการฝึกซ้อมจะส่งผลให้การแก้ไขสถานการณ์มีประสิทธิภาพ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร มูลนิธิ องค์กรเอกชนและประชาชน ทำให้สามารถฟื้นฟูกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
*************************** 12 พฤษภาคม 2567