โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)  โรคฮิตที่มักจะมาพร้อมกับหน้าร้อน นั่นเป็นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้นหรืออุณหภูมิที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ เติบโตได้ดีและอาจปนเปื้อนอยู่กับอาหารได้นานขึ้น โดยเฉพาะการปรุงอาหารไม่สุกพอหรือรับประทานอาหารที่ค้างคืนไว้ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาหารเป็นพิษ เชื้อโรคอาจปนเปื้อนจากตัวอาหารเองหรือภาชนะที่ใส่อาหารก็ได้ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้ไม่สามารถถูกทำลายได้โดยกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่เกิดกับอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ โดยไม่มีการแช่เย็น อาหารที่เตรียมขึ้นอย่างไม่สะอาด บางครั้งพบในอาหารที่ปรุงไม่สุก เด็กและคนชรามีโอกาสเสี่ยงสูง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า อาการของโรคอาหารเป็นพิษ มีทั้งเกิดจากพิษ (toxin) หรือจากการติดเชื้อโดยตรง มักเกิดขึ้นภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อหรือสารพิษของเชื้อขึ้นไปจนถึงมากกว่า 1 วัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไปอาหารเป็นพิษเป็นภาวะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง แต่หากเกิดอาการรุนแรงก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 

นายแพทย์กิตติ ชื่นยง นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ภาวะอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ซึ่งเชื้อที่มักเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษมีหลากหลาย ตัวอย่าง เช่น 1.ซาลโมเนลลา (Salmonella) พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 2.เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรืออีโคไล (E. Coli) บางสายพันธ์ุ โดยพบมากในเนื้อสัตว์ดิบ 3.คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย จึงมักพบในอาหารที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น 4.ชิเกลล่า (Shigella) พบการปนเปื้อนทั้งในผลิตภัณฑ์อาหารสดน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมไปถึงอาหารสดที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อโดยตรง 5.ไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินอาหาร (Enteric Viruses)  ที่มักปนเปื้อนได้ทั้งในอาหารสด สัตว์น้ำที่มีเปลือก และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งอาการอาหารเป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นหลักวันหลังจากสัมผัสอาหารที่มีการปนเปื้อน โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนหรือถ่ายท้องติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาจมีเลือดปน รู้สึกปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ต่อเนื่องกัน เนื่องจากการบิดตัวของลำไส้ มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ซึม ไม่มีแรง ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อย เป็นต้น มีไข้สูง รู้สึกหนาวสั่น ปวดศีรษะ รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย  แม้โรคนี้เราจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่การเริ่มป้องกันจากตัวเราเอง โดยการรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยมีวิธีแนะนำดังนี้ 1.ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพราะเชื้อโรคอาจจะไม่ได้มาจากอาหารเพียงอย่างเดียว 2.เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ได้เพราะความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อได้ส่วนหนึ่ง 3.ไม่วางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง เพราะเป็นอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค 4.หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดอาการท้องร่วง เช่น ส้มตำ ยำ ขนมจีน เป็นต้น 5.พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพราะหากร่างกายอ่อนแอจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่ายในหน้าร้อนเช่นนี้ เชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดี จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอาหารเป็นพิษมากขึ้น

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #อาหารเป็นพิษ -ขอขอบคุณ -9 พฤษภาคม 2567

            

                 



   
   


View 217    12/05/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ