โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผย โรคติดเชื้อ "มัยโคแบคทีเรีย" ที่ไม่ใช่ "วัณโรค" หรือ NTM ส่อเป็นปัญหาสาธารณสุขในอนาคต พบก่อโรคมากขึ้นในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ในช่วง 20 ปี คาดภาวะโลกร้อนทำเชื้อแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมง่าย เครือข่ายนักวิจัยไทยและนานาชาติร่วมประชุมวางแผนรับมือ 3 ด้าน รุกพัฒนามาตรฐานข้อมูลผลตรวจแล็บ หวังช่วยแยกเชื้อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria - NTM) กำลังเป็นประเด็นปัญหาสุขภาพในกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เนื่องจากมีอุบัติการณ์ของเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื้อนี้สามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อมเช่นในดิน น้ำ เป็นต้น และทำให้เกิดโรคในคนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คาดว่าเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค ซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.นพ.สุรัคเมธกล่าวต่อว่า คณะวิจัยจากกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงจัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยภายใต้โครงการ Nontuberculous mycobacterial (NTM) infections associated with climate change and major weather events: enhancing surveillance and mitigation strategies เมื่อวันที่ 10-12 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนของ The e-ASIA Joint Research Program และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานและการวิจัยในประเด็นโรคติดเชื้อ NTM รวมทั้งร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อ NTM ในประเทศไทย เพื่อเตรียมการรับมือภาระโรคในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายวิจัยมีข้อสรุปแนวทางความร่วมมือ 3 ด้าน คือ 1.ด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ NTM โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายวิจัยในด้านเทคนิคในการรวบรวมข้อมูลเชิงระบาด เพื่อพัฒนาแนวทางการคาดการณ์ความชุกและอุบัติการณ์ของโรคโดยการใช้รหัส ICD-10 ให้มีความครอบคลุมและแม่นยำยิ่งขึ้น 2.ด้านมาตรฐานข้อมูล โดยสร้างมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่างเครือข่ายวิจัย เพื่อสร้างฐานข้อมูลโรคที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยในอนาคต และ 3.ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เพื่อหาตัวแปรทางสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพร่กระจายของเชื้อ NTM และถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างเครือข่ายวิจัย โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย และเป็นพื้นฐานในการศึกษาค้นคว้าปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนเชื้อ NTM ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
"การดำเนินงานของประเทศไทย จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถรองรับได้อย่างเหมาะสม, เพิ่มความละเอียดของการนำเข้าข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ให้มีครอบคลุมมากยิ่งขึ้น, วางแผนแนวทางความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยในอนาคต เช่น การสนับสนุนให้นักวิจัยรุ่นใหม่ (Early Career Researchers) ได้เปิดโลกทัศน์ทางการวิจัยผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศ การถ่ายทอดองค์ความรู้ (knowledge transfer) ระหว่างเครือข่ายวิจัย และผลักดันทางด้านสาธารณสุขให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคติดเชื้อ NTM ซึ่งจะเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกในอนาคต" ดร.นพ.สุรัคเมธกล่าว
โดยการประชุมครั้งนี้ มีนักวิจัยจากเครือข่ายวิจัยทั่วโลกเข้าร่วม ประกอบด้วย Prof. Rachel Thomson และ Prof. Jianhua Guo จาก The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย, Dr. Rebecca Prevots จาก National Institute of Allergy and Infectious Diseases ประเทศสหรัฐอเมริกา, Dr. Kozo Morimoto จาก Japan Anti-Tuberculosis Association and Respiratory Disease Center และ Fukujuji Hospital ประเทศญี่ปุ่น และ Dr. Sokleaph Cheng จาก Institute Pasteur du Cambodge ประเทศกัมพูชา
**************************************** 20 พฤษภาคม 2567
View 1414
20/05/2567
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ