กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 14 View
- อ่านต่อ
อย. ร่วมกับ สสจ. กำกับดูแลสถานที่ผลิตน้ำแข็งที่ได้รับอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ GMP เฝ้าระวังคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำแข็งบริโภค แนะวิธีเลือกน้ำแข็งต้องมีภาชนะบรรจุที่สะอาด ปิดสนิท มีเลข อย. บนฉลาก หากพบน้ำแข็งไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน ร้องเรียนสายด่วน อย. 1556
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในปัจจุบันท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ประชาชนมีความต้องการบริโภคเครื่องดื่ม หรือน้ำดื่มใส่น้ำแข็ง เพื่อดับกระหาย คลายร้อนเพิ่มมากขึ้น การเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย และไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารจึงมีความสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน จึงร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในการกำกับดูแลสถานที่ผลิตน้ำแข็งที่ได้รับอนุญาต ให้เป็นไปตามสุขลักษณะที่ดีในการผลิตตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) และมีผู้ควบคุมการผลิตอาหารที่มีความรู้ความเข้าใจในการควบคุมกระบวนการผลิต อีกทั้งมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเฝ้าระวังคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำแข็งบริโภค รวมทั้งมีมาตรการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม เช่น สถานที่ไม่ได้มาตรฐาน GMP ผู้ผลิตมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท น้ำแข็งไม่สะอาดพบการปนเปื้อนจุลินทรีย์ด้านสุขลักษณะ (E. coli, coliform) ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากตรวจพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่มีภาชนะบรรจุสะอาดและปิดสนิทแน่นหนา ไม่ฉีกขาด น้ำแข็งต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง มีการแสดงฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดของชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม และต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้”ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งบดหรือน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย หรือเสิร์ฟตามร้านอาหารที่ไม่มีฉลากนั้น มีโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ ผู้บริโภคควรหมั่นสังเกตลักษณะของน้ำแข็งที่จะบริโภค รวมถึงสถานที่เก็บรักษา และภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด ขณะเดียวกันผู้จำหน่ายควรมีวิธีการตัก และเก็บน้ำแข็งอย่างเหมาะสม เช่น การเก็บในภาชนะที่สะอาด มีการล้างทำความสะอาดภาชนะอย่างสม่ำเสมอและการไม่แช่สิ่งของอื่นร่วมกับน้ำแข็งที่จะบริโภค เป็นต้น ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 24 พฤษภาคม 2567 ข่าวแจก 170 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567