สาธารณสุข มอบหนังสือ“พระมหาชนกฉบับการ์ตูน” เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ให้เด็กที่คลอดในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2552 เพื่อให้เป็นสื่อสร้างความผูกพันพ่อ-แม่-ลูก ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเด็กไทย และสร้างความสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึมซับเรื่องความเพียร ขยัน อดทน ตั้งแต่วัยเด็ก วันนี้ (10มกราคม 2552) ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสุนบริการสุขภาพ และคณะ เปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ปี 2552 ที่อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนหัวไทร อ.หัวไทรและ เดินทางไปโรงพยาบาลหัวไทร โรงพยาบาลปากพนัง และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อมอบหนังสือ “พระมหาชนกฉบับการ์ตูน” ให้แก่เด็กที่เกิดในวันนี้ ให้เป็นหนังสือเล่มแรกหรือบุ๊ค สตาร์ท(Book Start) โดยในวันนี้ที่โรงพยาบาลหัวไทร มีเด็กเกิด 3 คน โรงพยาบาลปากพนัง มีเด็กเกิด 3 คน และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีเด็กเกิด 12 คน นายวิทยากล่าวว่าในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมอบหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง“พระมหาชนก” ฉบับการ์ตูน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ให้เด็กที่เกิดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2552 ทุกราย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 2,100-2,500 คนทั่วประเทศ ตั้งใจที่จะมอบให้เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตเด็ก เพราะนอกจะช่วยเป็นสื่อให้พ่อแม่ลูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้นแล้ว หนังสือดังกล่าว เป็นสิ่งมีคุณค่า สอนให้เด็กไทยสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และซึมซับเรื่องของความเพียร ขยัน อดทนตั้งแต่เด็กด้วย ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเลี้ยงดูลูกมีส่วนสำคัญมากในการสร้างไอคิว-อีคิวให้เด็กถึงร้อยละ 70 กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ จนกระทั่งหลังคลอด โดยเฉพาะช่วง 6 ขวบแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างไอคิว-อีคิว ซึ่งมีความสำคัญในการดำรงชีวิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จากการสำรวจครอบครัวไทยล่าสุดในปี 2549 พบพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังเพียง1-5 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น ผลดีของการเล่านิทาน นอกจากจะสร้างความผูกพัน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เล่ากับเด็กแล้ว ยังสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นให้เด็ก ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นขณะฟังนิทาน ทำให้เด็กมีสมาธิ เด็กจะฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบของไอคิวหรือความฉลาดทางปัญญา โดยนิทานเป็นการขยายเรื่องที่เป็นนามธรรม ให้เป็นเรื่องง่ายๆที่จะพูดคุยหรือสื่อให้คนอื่นเข้าใจ สร้างความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวให้เด็กอยู่ในสังคมได้ การเล่านิทานยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านหนังสือ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่สำคัญคือทักษะด้านภาษา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจินตนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทย **************************************** 10 มกราคม 2552


   
   


View 6    10/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ