กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 15 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2567“นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต” พระราชทานพระดำรัสเปิดการประชุม พระราชทานโล่ที่ระลึก นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ DMSc Award อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ระดับชาติ โดยมีคณะผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารและบุคลากรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บุคลากรจากหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณุสข รวมถึงคณะบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ และร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่มเมืองทองธานี
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีแนวคิดหลักของการประชุม คือ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations : From Lab to Life” ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายสุขภาพด้านต่างประเทศ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนรับทราบ ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการ ให้มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาได้เข้าเยี่ยมชมนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข
การประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดในรูปแบบ Onsite มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน ในงานมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการ ได้มีเวทีนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ โดยเฉพาะในปีนี้นอกจากงานวิชาการในเชิงลึกแล้ว มีการเปิดเวทีให้งานประเภท Routine to Research หรือ R2R ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในงานประจำมาร่วมนำเสนอผลงานด้วย ซึ่งมีผลงานที่ส่งเข้าร่วม 426 เรื่อง แบ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการด้วยวาจา 47 เรื่อง โปสเตอร์ 211 เรื่อง และ R2R 168 เรื่อง รวมทั้งมีการสัมมนาทางวิชาการการเสวนา โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ ปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เรื่อง วิจัยบ้านๆ กับการเปลี่ยนแปลง : R-to-R with the Great Impact โดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ธีระ ทองสง ศาสตราจารย์ ระดับ 11 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดการควบคุมการติดเชื้อ โดย ดร.โยชิฮารุ มัตสึอุระ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เรื่อง ความหลากหลาย ของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในเอเชีย โดย ดร.ยูกิฮิโระ อาเคดะ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น เรื่อง การใช้ CAR-T Cell ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด โดย ศ.นพ.เจียนเซียง หวาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติโลหิตวิทยา ประเทศจีน, เรื่อง โมโนโคลนอลแอนติบอดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก โดย ดร.เพ็ดดี เรดดี้ และ ดร.อนิรุธา โปเตย์ สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีการบรรยายและนำเสนอผลงานวิชาการของผู้ได้รับรางวัล DMSc Award ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ผลงานเรื่องThe Pilot Study of Immunogenicity and Adverse Events of a COVID-19 Vaccine Regimen : Priming with inactivated Whole SARS-CoV-2 Vaccine (CoronaVac)and Boosting with the Adenoviral Vector (ChAdOx1 nCov-19) Vaccine โดย ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง“ประสาทวิทยาคลินิกพื้นฐานและการตรวจร่างกายทางระบบประสาท” (Basic Clinical Neurology and Neurological Examination)โดย รศ.พญ.จิราพร จิตประไพกุลศาล สาขาวิชาประสาทวิทยาภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประเภทการพัฒนาบริการหรือพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่เรื่อง การพัฒนาระบบบริการชั้นเลิศการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรคเครือข่ายโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดย ดร.ทนพ.นพพร สวัสดิ์จุ้ย งานห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลศรีนครินทร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การบรรยายโดยผู้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ เรื่องการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพตามมาตรฐานสากล โดย ดร.ศรายุธ ระดาพงษ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การบรรยายโดยผู้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น เรื่องSuitability of Alternative ATP Assay for Lot Release BCG-172-1 Vaccines in Thailand: from Lab to WHO Network โดย ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เทคโนโลยีชีวภาพ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แและผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงสู่มาตรฐานสากล โดย ดร.สุภาพร สุภารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภูมิคุ้มกันวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การบรรยายโดย ผู้ได้รับรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนระดับชาติ เรื่อง สานพลังเครือข่าย อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน: บ้านนาม่วงโมเดล โดย นางสาวหนูจันทร์ หินแสงใส อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน จังหวัดอุดรธานี
รวมทั้งยังมีคณาจารย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ ได้มาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การศึกษาวิจัยด้วย นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข งานวิจัยที่พัฒนาขึ้นมา เช่น การพัฒนาการแพทย์ขั้นสูง ATMP เพื่อรองรับการรักษาในอนาคต การพัฒนาวัคซีน การตรวจวินิจฉัยโรค ชุดตรวจและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้คำปรึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางจากสมุนไพร เพื่อขอตรารับรอง DMSc Product จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการจัดแสดงผลงานจากหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการมากกว่า 100 บูธ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังการบรรยายได้ทางเพจเฟสบุคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์