ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 46 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติ ที่จังหวัดมหาสารคาม แสดงศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเมืองสมุนไพรและแหล่งผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการสมุนไพรรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเปิดโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจ โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการบริษัทผลิตยาสมุนไพรของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับผู้ประกอบการประเทศไทยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งงานวิจัยสมุนไพรที่ปลูกในประเทศไทยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ มูลค่าเฟสแรก 250 ล้านบาท
วันนี้ (8 มิถุนายน 2567) ที่ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรองประธานกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สมุนไพรไทย พัฒนาเศรษฐกิจไทย” ในงานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติ International World Trade of Herbal city 2024 พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งงานวิจัยของสมุนไพรที่ปลูกในประเทศไทย นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ มูลค่า 250 ล้านบาท (เฟสที่1) ระหว่าง บริษัท เจี๊ยเก๋อ เกาซัว เมดิคอล เทคโนโลยี (เซี่ยงไฮ้) จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ บริษัท สยามวิสดอม จำกัด, บริษัท ไทย เรย์ อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด, บริษัท กวิ จำกัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิบูลย์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้ประกอบการสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตอบรับนโยบายรัฐบาลในการเป็น Medical Hub โดยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 -2570 ทำให้ในปี 2566 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทย มีมูลค่าประมาณ 57,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% มีการส่งออกสมุนไพรเฮอร์เบิลแชมเปี้ยน 15 รายการ มูลค่าประมาณ 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% เกิดการจับคู่ธุรกิจ มากกว่า 3,000 คู่ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 1,300 ล้านบาท ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2567 ได้ประกาศรายชื่อเมืองสมุนไพร (Herbal city) 16 จังหวัด ใน 3 คลัสเตอร์ ซึ่ง จ.มหาสารคาม เป็น 1 ใน 6 จังหวัดคลัสเตอร์เกษตรวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความพร้อมครบวงจร มีเกษตรกรปลูกสมุนไพรมากกว่า 300 ราย มีพื้นที่ปลูกสมุนไพรได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มีแปลงปลูกสมุนไพรกลุ่มใหญ่ 6 กลุ่ม แปลงออร์แกนิค 300 ไร่ มูลค่าการขายวัตถุดิบเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2566 มีมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท อีกทั้งมีๅผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ มีการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นถึง 21% และเป็นแหล่งสมุนไพรคุณภาพที่ส่งคู่ค้ารายสำคัญ เช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และตลาดเอกชนอีกหลายบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ
“งานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาเมืองสมุนไพร ที่เป็นการสร้างความยั่งยืนได้ตรงจุด และยังเป็นการนำผู้ผลิตมาพบกับผู้ซื้อโดยตรง ทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ อย่างเช่นการลงนามความร่วมมือกับประเทศจีนในวันนี้ สร้างโอกาสที่ดีให้กับประเทศในการนำสมุนไพรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและมีภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางเมืองสมุนไพรคุณภาพที่ทั่วโลกต้องคิดถึงในอันดับต้นๆ ที่สำคัญยังช่วยให้เกษตรกรไทยในพื้นที่สามารถยืนหยัดในอาชีพ มีรายได้และมีความสุข” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า งานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 มิถุนายน 2567 เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและเมืองสมุนไพรทั่วประเทศแสดงศักยภาพการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการสมุนไพรรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนแสดงถึงศักยภาพของการสร้างเศรษฐกิจประเทศด้วยสมุนไพรไทยและส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองสมุนไพรอย่างต่อเนื่องในอนาคต กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย บูธเมืองสมุนไพร บูธนวดไทย และบริการด้านแพทย์แผนไทย บูธวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง บูธผู้ประกอบการสมุนไพรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการจับคู่ธุรกิจ การแสดงสินค้าเกษตรปลอดภัยจากกลุ่ม Young Smart Farmer และ OTOP จ.มหาสารคาม รวมกว่า 100 บูธ มีผู้ประกอบการสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ลาว ประชาชนทั่วไป นักศึกษา นักธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 10,000 คน
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในงานวันนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งงานวิจัยของสมุนไพรที่ปลูกในประเทศไทยนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ มูลค่า 250 ล้านบาท (เฟสที่1) ระหว่าง Ms. Wang Jingqiao กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจี๊ยเก๋อ เกาซัว เมดิคอล เทคโนโลยี (เซี่ยงไฮ้) จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ ภก.พท. กิตติศักดิ์ พัฒนพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม วิสดอม จำกัด, นายบัญญัติ คำบุญเหลือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิ จำกัด, Mr.Pu Kamlee กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เรย์ อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด และ ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เพื่อสร้างระบบการค้าอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารซัพพลายเชน รวมทั้งการวิจัย พัฒนา และการซื้อขายวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานอย่างน้อย 5 ปี มูลค่าการซื้อขายเริ่มต้นในช่วงแรก 250 ล้านบาท
**************************************** 8 มิถุนายน 2567