เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุม รพ.สต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น นายอาคม ปัญญาแก้ว สาธารณสุขอำเภออุบลรัตน์ มอบหมายให้ ดร.ไพฑูรย์ พรหมเทศ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของรูปแบบการป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยวิธีการให้สุขศึกษาและสื่อสารที่ปรับปรุงจากเดิม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับชุมชน จังหวัดขอนแก่น เข้าประชุมเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานในชุมชนสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพ ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อชุมชน   ให้ได้ประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลและมีความยั่งยืน โดยมี รศ ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานการประชุม

รศ ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งมามากกว่า 20 ปี และมะเร็งชนิดที่เป็นมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้มานานมากกว่า 30 ปี แต่ปัญหานี้ยังไม่ลดลงเลย ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยนี้เพิ่มมากขึ้น และมักจะตรวจพบเจอตอนที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น

“จากการสุ่มสำรวจเก็บข้อมูลสุขภาพพบว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและโรคมะเร็งอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ มีการกินปลาดิบ 50.0 % ดื่มสุรา 54.2 % สูบบุหรี่ 15.0  % นอกจากนี้ยังพบว่า มีการใช้และสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากด้วย ส่วนปัจจัยที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี และโรคอื่น ๆ คือ การบริโภคผักสด ผลไม้สด (ปลอดสารพิษ) จำนวนน้อยด้วย” รศ ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าวและย้ำอีกว่า

"เราจึงควรช่วยกัน แสวงหาความรู้จริง สาเหตุที่แท้จริง วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลจริง จะได้เกาให้ถูกที่ค้น โครงการวิจัยนี้ จึงได้ค้นคว้าหาความรู้จากทั่วโลก สอบถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และสอบถามจากประชาชน เพื่อค้นหาความจริงดังกล่าว โดยเราตั้งใจจะร่วมเรียนรู้กับทุกภาคส่วนในสังคม และตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการเกื้อหนุนให้ทุกฝ่ายทำงานให้ได้ผล เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วย ทั้งนี้ พบว่า สาเหตุของโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี มีหลายสาเหตุ ได้แก่ สุรา บุหรี่ ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารและน้ำที่มีสารพิษปนเปื้อน การป้องกันโรคนี้ให้ได้ผล จึงต้องแก้ที่หลายๆ สาเหตุ ไปพร้อม ๆ กัน ปัญหาโรคนี้และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็จะลดลงด้วย ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานในระดับชุมชนที่ได้ผลและยั่งยืน".



   
   


View 42    09/06/2567   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักสารนิเทศ