กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ ยังคงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบมากเป็นกลุ่มก้อน ในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร วัด และโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้เป็นโรคเรื้อรังควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อลดอาการรุนแรง

          วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 มิถุนายน 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 26,126 ราย และเสียชีวิต 144 ราย และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2,881 ราย เฉลี่ย 412 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 748 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 339 ราย และเสียชีวิต 7 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง นอกจากนี้พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 มิถุนายน 2567 ได้รับแจ้งเหตุการณ์การระบาดโรคโควิด 19 สะสม 37 เหตุการณ์ พบในเรือนจำมากที่สุด รองลงมา คือ โรงเรียน วัด และค่ายทหารตามลำดับ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งอาการที่พบไม่รุนแรง มักพบมีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก

          สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 8 มิถุนายน 2567 มีรายงานผู้ป่วย 174,513 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา 5 ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ราย จังหวัดชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 1 ราย โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (9 ราย) และชนิด B (1 ราย) จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์จากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2567 ได้รับแจ้งเหตุการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สะสม 17 เหตุการณ์ พบในเรือนจำมากที่สุด รองลงมา คือ โรงเรียน วัด ค่ายทหาร และโรงงานอุตสาหกรรม ตามลำดับ และจากการติดตามโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีลักษณะการระบาดเป็นฤดูกาลที่สัมพันธ์กับช่วงกิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจำนวนการป่วยรายสัปดาห์จากโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่จะยังเพิ่มขึ้นและน่าจะสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม  

          นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรค ขอเน้นย้ำมาตรการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อสงสัยป่วย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ จะสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อโรคโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ได้ ประชาชนควรดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น การเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ หากมีอาการสงสัยป่วยควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK ถ้าผลตรวจเป็นบวก ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากป่วยอาจมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ควรปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์ และสำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกๆ ปี เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ ในช่วงหน้าฝน ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

*****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 17 มิถุนายน 2567



   
   


View 46    17/06/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ