กรม สบส. ร่วม ตำรวจ ปคบ. บุกรวบหมอนวดเถื่อน ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- 14 View
- อ่านต่อ
(วันที่ 20 มิถุนายน 2567) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การยูนิเซฟประเทศไทย แผนงาน WHO CCS-NCD และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เด็กไทย กินอย่างไร สุขภาพดี รู้เท่าทันการตลาดอาหารหวานมันเค็ม” เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการตลาดอาหารต่อสุขภาพของเด็กให้กับกลุ่มเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสร้างความร่วมมือสนับสนุนมาตรการทางกฎหมายปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย และผ่านระบบออนไลน์
ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเกิดโรคอ้วนในเด็กสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งการตลาดอาหารที่กระตุ้นให้เด็กซื้อและบริโภคอาหารเหล่านั้นเพิ่มขึ้น เช่น การโฆษณา ฉลากรูปการ์ตูน การแลก แจก แถมของเล่น การชิงโชคชิงรางวัล ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในเด็ก แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างให้เด็กไทยมีความรู้เท่าทันการตลาดอาหารโดยอาศัยความร่วมมือครอบครัว ชุมชน สังคม และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมขับเคลื่อนให้สอดรับมาตรการและตัวชี้วัดเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็กขององค์การอนามัยโลกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกรมอนามัยจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพที่ดีควบคู่กับการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเน้นกลุ่มเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ให้ได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และตระหนักถึงผลกระทบของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็ม และสนับสนุนมาตรการทางกฎหมายปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพแข็งแรง และเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตต่อไป
“ด้านสถานการณ์แนวโน้มเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้น 2 เท่าใน 20 ปี ที่ผ่านมาผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย (สุขภาพเด็ก) พ.ศ. 2539 - 2540 ประมาณร้อยละ 5.8 เป็นที่น่าตกใจ เมื่อผลสำรวจปี พ.ศ. 2562 - 2563 ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็กเล็กเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.6 และในเด็กวัยเรียนเป็นร้อยละ 15.4 นอกจากนี้ข้อมูลในระบบ HDC ของกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กวัยรุ่นมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนประมาณ ร้อยละ 13.4 ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมายปี 2567 คือ ไม่เกินร้อยละ 11.5 สำหรับร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กได้ดำเนินการประชาพิจารณ์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและปรับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารเพื่อเสนอเข้ากระบวนการทางกฎหมาย สำหรับการพัฒนาร่างอนุบัญญัติภายใต้ร่างกฎหมาย ยังคงต้องหารือจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงวิสารัตน์ ธีระโกเมน รองผู้อํานวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เด็กไทย กินอย่างไร สุขภาพดี รู้เท่าทันการตลาดอาหารหวานมันเค็ม” ประกอบด้วย การบรรยายสถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กไทย ข้อแนะนำการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กและการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มต่อสุขภาพเด็ก การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “ผลกระทบของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มต่อพฤติกรรมสุขภาพของเด็ก และทำอย่างไรให้เด็กลดการกินอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม” โดย คุณฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม และอาจารย์ ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเล่าถึงผลงานวิจัยการศึกษาการตลาดอาหารหวานมันเค็มต่อสุขภาพเด็ก และตัวแทนกลุ่มเด็กและเยาวชน ตัวแทนกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ร่วมเสวนาในประเด็นดังกล่าวด้วย รวมทั้งมีการเสวนา “มุมมองและแนวทางปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มหรืออาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” โดย ดร.เภสัชกรหญิงธนพันธ์ สุขสอาด สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย มุมมองบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดย คุณฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคมมุมมองด้านสิทธิเด็ก โดยคุณวาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และคุณวิลสา พงศธร ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย และแนวทางการปกป้องเด็กในประเด็นดังกล่าวของระดับโลกโดย ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และการดำเนินการของประเทศไทยในปัจจุบัน โดย รท.หญิงณิชารัศม์ ปัญจจิตราพัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ สำนักโภชนาการ และกิจกรรมสุดท้ายเป็นกิจกรรมเชิญชวน “รณรงค์ชวนเด็กไทยลดหวานมันเค็มและร่วมปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม”
“ทั้งนี้ มีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ด้านเด็กเยาวชน และครอบครัว พร้อมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กและเยาวชน เข้าร่วมแบบ Onsite และ Online รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม รวมทั้งร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายฯ โดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กอย่างยั่งยืน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 98 ของผู้เข้าร่วมมีความตระหนักถึงผลกระทบของการตลาดอาหารหวานมันเค็มต่อสุขภาพเด็ก”แพทย์หญิงวิสารัตน์ กล่าว
***
กรมอนามัย / 20 มิถุนายน 2567