ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 36 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามดำเนินงาน 2 โรงพยาบาล “สุโขทัย” เดินหน้าพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ชม รพ.กงไกรลาศผ่านประเมินโรงพยาบาลอัจฉริยะสูงถึง 925 คะแนน ส่วน รพ.สุโขทัยโดดเด่นวางระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ครอบคลุมทุกกลุ่มจนถึงชุมชน
วันนี้ (22 มิถุนายน 2567) ที่ จ.สุโขทัย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567-2568 ของโรงพยาบาลกงไกรลาศและโรงพยาบาลสุโขทัย พร้อมกล่าวว่า โรงพยาบาลทั้งสองแห่งสามารถดำเนินงานตามนโยบายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการยกระดับเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) อาทิ ระบบ IPD Paperless แพทย์ตรวจวินิจฉัยและสั่งการรักษา/จ่ายยาผ่านระบบดิจิทัล ช่วยลดภาระงานบุคลากร ลดระยะเวลารอคอยยาผู้ป่วยในจาก 1-2 ชั่วโมง เหลือ 15-30 นาที การใช้ AI ให้บริการ มีการพัฒนาทั้งระบบข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน ระบบบริการ และระบบเชื่อมต่อประชาชน พร้อมวางระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รองรับการดำเนินงาน 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้เป็นอย่างดี ทั้งการจัดทำประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล นัดหมายออนไลน์ ให้บริการการแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล บริการส่งยาทางไปรษณีย์และ Health Rider ช่วยลดความแออัดและลดการรอคอย
“โรงพยาบาลกงไกรลาศ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางจำนวน 41 เตียง ดูแลประชากรกว่า 6.2 หมื่นคน ลงทะเบียนหมอพร้อม Digital ID ร้อยละ 79.46 ส่งข้อมูลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่าน Financial Data Hub (FDH) ได้รับการโอนเงินทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน 1,500 ราย รวม 2.45 ล้านบาท ผ่านการประเมินเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยะแนนสูงถึง 925 คะแนน จาก 1,000 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 92.5” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนโรงพยาบาลสุโขทัยเป็นโรงพยาบาลทั่วไปประจำจังหวัดขนาด 320 เตียง ดูแลประชากรกว่า 5.79 แสนคน มีความโดดเด่นในการดำเนินงานตามนโยบายเรื่องระบบการดูแลบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ตามแนวทาง Patient Journey ร่วมกับเครือข่าย โดย 1.กลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการทางจิต ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ ปี 2567 ดูแลผ่านชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) 202 ราย ผ่านการบำบัดครบตามเกณฑ์และออกใบรับรองผ่านการบำบัด 77 ราย ชุดปฏิบัติการติดตามดูแลให้กำลังใจ 149 ราย ช่วยเหลือด้านจัดหางาน 4 ราย ด้านเงินทุนประกอบอาชีพ 39 ราย ด้านที่อยู่อาศัย 1 ราย ทำให้ช่วยหยุดเสพได้ 32 ราย ให้การบำบัดแบบผู้ป่วยนอก 196 ราย 2.กลุ่มสีเหลือง มีอาการทางจิตแต่อยู่ในภาวะสงบ จิตแพทย์ตรวจประเมินและพิจารณารูปแบบบำบัดรักษา ประสานครอบครัว ชุมชน และฝ่ายปกครองร่วมดูแล พบว่าเป็นผู้ป่วยยาเสพติด 49 รายส่วนใหญ่เป็นยาบ้า และผู้ป่วยจิตเวช 80 ราย 3.กลุ่มสีส้ม มีอาการฉุนเฉียว หวาดระแวง เป็นผู้ป่วยยาเสพติด 17 รายและ 4.กลุ่มสีแดง คลุ้มคลั่งอาละวาด รวม 37 ราย เกิดจากยาเสพติด 26 ราย และจิตเวช 11 ราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับการติดตามดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
“โรงพยาบาลสุโขทัย มีหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดสำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง 14 เตียงซึ่งเมื่ออาการสงบ จะส่งบำบัดฟื้นฟูที่มินิธัญญารักษ์ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลคีรีมาศและโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม และประสานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมร่วมดูแลภายหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่หากเกินศักยภาพจะส่งต่อโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกและโรงพยาบาลสวนปรุง ที่ผ่านมามีการรักษาในหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด 26 ราย เป็นผู้ป่วยยาเสพติด 5 ราย แอลกอฮอล์ 3 ราย และผู้ป่วยจิตเวช 18 ราย ถือว่ามีการวางระบบและสามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดได้เป็นอย่างดี” นพ.โอภาสกล่าว
************************************************** 22 มิถุนายน 2567