นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ชนิดของเห็ด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้ป่วยรับประทานแล้วเข้าโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่ที่ส่งตรวจในช่วงนี้ คือ เห็ดก้อนฝุ่น หรือ เห็ดไข่หงส์ ซึ่งเป็นเห็ดพิษ ที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบที่รับประทานได้ สำหรับลักษณะของเห็ดทั้งสองชนิด มีดังนี้


 

 

เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบ ที่นิยมรับประทานในประเทศไทยมีอยู่  2 ชนิด คือ เห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) และเห็ดเผาะฝ้าย (Astraeus asiaticus) โดยพบมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม เห็ดทั้งสองชนิดนี้สามารถคัดแยกด้วยตาเปล่าได้ง่าย แต่ในผู้ที่ไม่ชำนาญหรือไม่ระวัง อาจเก็บเห็ดพิษที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบปนมาด้วย โดยลักษณะของเห็ดเผาะหนัง จะมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย ผิวเรียบมีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวปกคลุม ดอกอ่อนนุ่ม โดยทั้ง 2 ชนิดต้องไม่พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก 

 


ส่วน เห็ดก้อนฝุ่น หรือ เห็ดไข่หงส์ (Scleroderma) เป็นเห็ดพิษชนิดหนึ่ง ห้ามนำมารับประทาน สามารถสังเกตด้วยตาเปล่า โดยเห็ดกลุ่มนี้พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก ผิวไม่เรียบคล้ายมีเกล็ดปกคลุม และเมื่อผ่าดอกเห็ดอาจพบการเปลี่ยนสี เมื่อรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้จะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ถึง 3 ชั่วโมง โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการมึนงง ตามัว และสภาวะหายใจลำบาก

 


นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดย ให้กินผงถ่าน (activated charcoal) โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร และรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาตามอาการ โดยสามารถส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษทางห้องปฏิบัติการศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99716 และ ศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ โทร. 0 2951 1485



   
   


View 383    27/06/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ