กระทรวงสาธารณสุข เผยสายด่วนพึ่งได้ 1669 เป็นที่พึ่งผู้หญิงและเด็กที่บาดเจ็บจากการถูกกระทำรุนแรงมากขึ้น ในปี 2549 นี้ ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 14,000 ราย นำเข้ารักษาโรงพยาบาลวันละ 39 ราย สถิติเพิ่มขึ้น กว่าปี 2548 ถึงร้อยละ 40 โดยถูกทำร้ายร่างกายมากอันดับ 1 ร้อยละ 52 รองลงมาคือถูกล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 43 ในจำนวนนี้ต้องเยียวยาทางใจเกือบ 9,000 ราย ชี้ต้นเหตุ 1 ใน 4 มาจากพิษเหล้า นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for Elimination of Violence Against Women) และเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมต่อต้านการทารุณล่วงละเมิดสตรีเพศ โดยทุกปีมีประชากรทั่วโลกถูกกระทำรุนแรงเกือบ 2 ล้านคน รวมทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกที่มีอายุ 15-44 ปี ประมาณร้อยละ 10 และนับวันจะเพิ่มมากขึ้น นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย การให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC) เพื่อเป็นศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางใช้บริการหลายแห่ง ดำเนินงานแบบ สหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้บริการคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง ให้รอดพ้นจากการถูกกระทำรุนแรง โดยประชาชนสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในโรงพยาบาลของรัฐ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงกลาโหม และสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 104 ศูนย์ ผลการดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม 2548 ถึงกันยายน 2549 ได้ให้การช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้ายทั้งหมด 14,382 ราย เฉลี่ยวันละ 39 ราย ในจำนวนนี้อายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 7,164 ราย เป็นชาย 1,542 ราย เป็นหญิง 5,622 ราย ที่เหลืออีก 7,218 ราย เป็นผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบสถิติดังกล่าวกับปี 2548 ซึ่งมีทั้งหมด 10,241 ราย พบว่าเพิ่มถึง 4,141 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากผู้ที่ถูกทำร้าย นอกจากจะบาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ยังกระทบกระเทือนทางจิตใจด้วย ต้องใช้การเยียวยาดูแลเป็นกรณีพิเศษ นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ความรุนแรงที่กระทำมากที่สุด ได้แก่ การทำร้ายร่างกาย เช่น การตบตี เตะ ต่อย 7,054 ราย คิดเป็นร้อยละ 52 รองลงมาได้แก่ การล่วงละเมิดทางเพศ 5,791 รายคิดเป็นร้อยละ 43 ผู้ลงมือกระทำส่วนใหญ่เป็นแฟน เพื่อนใกล้ชิดและคนรู้จักร้อยละ 36 รองลงมือคือเป็นสามี ร้อยละ 24 และเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือญาติร้อยละ 15 นอกจากนี้ ยังถูกพ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยงทำร้ายร้อยละ 2 โดยสาเหตุของการกระทำรุนแรงร้อยละ 28 เกิดจากการเมาสุรา ติดสารเสพติด รองลงมาคือ การนอกใจ/หึงหวง ร้อยละ 24 ถูกล่อลวงร้อยละ 13 จากปัญหาเศรษฐกิจร้อยละ 7 และจากสื่อลามกร้อยละ 1 สำหรับผลการให้ความช่วยเหลือ ให้การรักษาบาดแผลตามร่างกาย รวมทั้งให้ยาป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี รวม 12,779 ราย ให้คำปรึกษาเยียวยาทางจิตใจ 8,797 ราย นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่ออีกว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ขยายบริการในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ใกล้บ้านขึ้น นำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ จังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลบ้านนา จังหวัดนครนายก โรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และโรงพยาบาลนภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งการช่วยเหลือด้านรักษาพยาบาลและคำปรึกษาแก่ผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียนว่าเป็นศูนย์ตัวอย่างที่ดี สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาต่อไป สำหรับในปี 2550 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทำคู่มือการใช้โปรแกรมและสร้างเครือข่ายฐานข้อมูลเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั่วประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือให้มีคุณภาพ ทั้งเชิงรับและเชิงรุก และจัดทำยุทธศาสตร์บูรณาการการจัดการปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ประกอบด้วย การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง การพัฒนามาตรฐานระบบบริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง และการฟื้นฟูและเยียวยาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว **************************************** 23 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ