รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำประชาชนไทย อย่าตื่นตระหนก ข่าวนางงามบราซิล ถูกตัดแขนและขาทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย ซูโดโมนาส เออรูจิโนซ่า ในโรงพยาบาลหลังเข้าผ่าตัดโรคนิ่วในไต ย้ำ ไทยทั้งรัฐและเอกชนมีระบบป้องกันควบคุมการติดเชื้ออย่างแข็งขัน ตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ทุกชนิด การให้บริการ การกำจัดขยะติดเชื้อ ชี้ไทยมีปัญหาติดเชื้อในรพ.น้อยมาก และมียารักษาได้ จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นางสาวมารีอานา บริดี ดา คอสตา อายุ 20 ปี นางงามบราซิล ติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในโรงพยาบาล มีชื่อว่า ซูโมนาส เออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) ที่กระเพาะปัสสาวะ หลังเข้ารับการรักษาผ่าตัดนิ่วในในไต ที่โรงพยาบาลในประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา และคณะแพทย์ต้องตัดมือและเท้าทั้ง 2 ข้างออก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดบริเวณแขนขาไม่ดี นั้น ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนไทยตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าวจนเกินไป ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนไทยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ อย่างเคร่งครัดตามหลักมาตรฐานสากล ตั้งแต่ความสะอาดในโรงพยาบาล การฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ทุกชนิด เครื่องใช้กับผู้ป่วย การให้บริการผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ ระบบการกำจัดน้ำเสีย และแยกขยะติดเชื้อในโรงพยาบาล ดำเนินการมาแล้วเกือบ 30 ปี ขณะนี้ไทยมีปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาลน้อยมาก อย่างไรก็ดีได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพดำเนินการเรื่องมาตรฐานของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทางด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมของผู้ป่วยทุกโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดทุกระดับที่มีกว่า 800 แห่ง ตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาระบบคุณภาพโรงพยาบาล และคณะกรรมการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีหน่วยงานรับผิดชอบติดตามเฝ้าระวังควบคุมป้องกันเชื้อทุกจุดบริการโดยตรง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลดี พบอัตราการติดเชื้อน้อย และมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 7.3 ในปี 2535 เหลือร้อยละ 6.5 ในพ.ศ.2549 และมียารักษาได้ ด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบมากที่สุดในไทยคือ ติดเชื้อที่ปอด พบประมาณ 1 ใน 3 รองลงมาคือติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จัดเป็นมาตรฐานด้านคุณภาพบริการของโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรผู้ให้บริการ และผู้ที่เข้ามาในโรงพยาบาล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งครอบคลุมการเฝ้าระวังการติดเชื้อของผู้ป่วยทุกระบบ และจัดทำแนวทางการป้องกันการติดเชื้อในตำแหน่งที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย เช่น การป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยได้จัดส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกคนในโรงพยาบาล ระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงการติดตามหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ที่สำคัญยังเน้นย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์ล้างมือฆ่าเชื้อก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยทุกครั้ง โดยในปีนี้กรมสนับสนุนฯ จะจัดประชุมวิชาการแสดงผลงานของโรงพยาบาลต่างๆ ในเดือนมิถุนายน 2552 นี้ ******************* 23 มกราคม 2552


   
   


View 6    23/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ