กระทรวงสาธารณสุข สัมมนาเครือข่ายนักระบาดวิทยา 1,200 คนทั่วประเทศ พร้อมรับมือวิกฤตการณ์ทางสุขภาพ เผยงานเฝ้าระวังควบคุมโรคของไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก มีความพร้อมตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ ปีนี้จะเร่งเสริมความเข้มแข็งทีมสอบสวนโรคระดับอำเภอ เพื่อสอบสวนโรคประจำถิ่น เช่น โรคฉี่หนูด้วย เช้าวันนี้ (26 มกราคม 2552) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม.นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 20 จัดโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เน้นการขับเคลื่อนระบาดวิทยาสู่การพัฒนานโยบายสาธารณสุข เพื่อเป็นเวทีพัฒนาวิชาการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างนักระบาดวิทยาทั่วประเทศ 1,200 คน สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีโรคติดเชื้อชนิดใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 30 โรค ที่สำคัญเช่น โรคเอดส์ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง จากความสะดวกในการเดินทางของผู้คน ทำให้เชื้อโรคระบาดข้ามประเทศได้ง่าย ทุกประเทศจึงต้องเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อหลายโรค ซึ่งถูกควบคุมจนสงบแล้วกลับมามีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดได้อีก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เชื้อโรคมีการปรับตัวทำให้ดื้อยา เป็นต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำความรู้ทางระบาดวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค ไปประยุกต์ใช้ในระบบงานสาธารณสุขของประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยมีผลงานโดดเด่นด้านระบาดวิทยาอย่างมาก มีทีมเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรับมือการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ได้สำเร็จ รวมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม สึนามิ โดยไทยได้รับการประเมินว่า ผ่านเกณฑ์ด้านระบบเฝ้าระวังโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005 ขององค์การอนามัยโลก และได้รับเลือกให้เป็นศูนย์ความร่วมมือในการเฝ้าระวังและตอบโต้โรคติดต่อสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำให้ไทยประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญการควบคุมป้องกันโรค มีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 1,100 ทีม พร้อมเข้าสอบสวนควบคุมโรคได้ทันที มีด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ กว่า 50 แห่ง โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดไข้ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศทุกสนามบิน มีห้องแยกดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำทุกหมู่บ้านอีกกว่า 83,000คน เฝ้าระวังโรคในชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มศักยภาพของทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วประจำอำเภอต่างๆ ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เพื่อทำการเฝ้าระวังสอบสวนโรคประจำถิ่น เช่น เมลิออยด์โดซีส (Melioidosis) โรคเท้าช้าง โรคฉี่หนู เพื่อลดการเสียชีวิต และสามารถจัดการปัญหาในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้ สำหรับการสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 20 นี้ ได้เชิญผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 คือ ศ.ยู หยัง เซิน (Professor Yu Yong Xin) ผู้คิดค้นวัคซีนไข้สมองอักเสบ และ ศ.มิชิอากิ ทากาอาซิ (Professor Michiaki Takahashi) ผู้คิดค้นวัคซีนโรคอีสุกอีใส เป็นองค์ปาฐกเกียรติยศ ************************ 26 มกราคม 2552


   
   


View 6    26/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ