สธ.ไทยช่วยลาวพัฒนาโรงพยาบาลโพนโฮงเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ แขวงเวียงจันทน์ กระทรวงสาธารณสุขไทยลงนามความร่วมมือพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข 9 สาขากับลาว อาทิการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกตามแนวชายแดน การควบคุมคุณภาพยา โดยพบชาวบ้านในแขวงโพนโฮงร้อยละ 15 เป็นโรคความดันโลหิตสูงจากการกินยาแก้ปวด ยาแผนโบราณที่ไม่ได้มาตรฐาน และเตรียมปรับปรุงโรงพยาบาลโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ มีบริการครบวงจรทั้งเชิงรับเชิงรุก นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับจากเดินทางไปเยือนลาวระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2549 เพื่อร่วมมือในการพัฒนาระบบการแพทย์สาธารณสุขให้ก้าวหน้า และได้ลงนามความร่วมมือกับ ฯพณฯดร.ปอนเมก ดาลาลอย (H.E.Dr.Ponmek Dalaloy)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือลาวใน 9 สาขา ได้แก่ การป้องกันควบคุมโรคติดต่อ เช่นโรคไข้หวัดนก วัณโรค โรคเอดส์ และมาลาเรีย การควบคุมคุณภาพการนำเข้าและส่งออกอาหาร ยา ยาแผนโบราณ เครื่องสำอาง อาหารเสริม และเครื่องมือแพทย์ การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข การพัฒนาการสาธารณสุขพื้นฐาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกตามแนวชายแดน เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาวซึ่งเอื้อต่อการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก รวมทั้งการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยอาหารและยา ความร่วมมือระหว่างจังหวัดชายแดน และการสนับสนุนการใช้ยาแผนโบราณจากสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ไทยจะพัฒนาและปรับปรุงโรงพยาบาลโพนโฮง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลมิตรภาพไทย-ลาว ที่ไทยสร้างมอบให้เมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนอย่างสมบูรณ์แบบ มีบริการครบถ้วน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ งานสุขาภิบาลป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพ จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล พบว่า สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เป็นอย่างดี ต่อวันมีผู้ป่วยรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละ 65 คน และมีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลปีละ 5,000 คน เฉลี่ยวันละ 14 คน ผู้ป่วยร้อยละ 30 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ป่วยด้วยโรคปอดบวมมากที่สุด รองลงมาเป็นไข้หวัด ส่วนผู้ใหญ่พบว่าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 15 มีสาเหตุจากการกินยาแก้ปวด และยาแผนโบราณ จึงจะต้องเพิ่มการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ เพื่อให้ประชาชนใช้ยาอย่างปลอดภัย ส่วนการพัฒนาด้านสถานที่ ซึ่งแต่ละอาคารบริการอยู่ห่างกัน จึงมีแผนจะสร้างทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร และปรับปรุงตัวอาคาร ห้องเอ็กซเรย์ ห้องผ่าตัดซึ่งขณะนี้สามารถผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าคลอดเฉลี่ยวันละ 2 คน ห้องคลอด หอผู้ป่วยในทั้งหมดที่มีบางจุดเริ่มชำรุด และสร้างหอพักแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีทั้งหมด 74 คน เพิ่มเติม สามารถใช้แปลนเดียวกับไทยได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ พยาบาลไปทำงานในชนบทมากขึ้นโดยจะให้กองแบบแผนของกระทรวงสาธารณสุขไทย ประเมินวางแผนการปรับปรุงและก่อสร้างภายใน 2 สัปดาห์นี้ คาดว่าจะใช้ประมาณ 15 ล้านบาท โดยจะของบกลางของรัฐบาลผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลโพนโฮง ซึ่งดูแลประชาชนจำนวน 64,000 คน ยังขาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกมาก เช่น เตียงผู้ป่วย ที่นอน เสื้อผ้าผู้ป่วย เครื่องซักผ้า–อบผ้าฆ่าเชื้อโรค โดยในวันพรุ่งนี้ จะให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ สำรวจอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ยังอยู่ในสภาพดี และมีมากเกินความจำเป็น เพื่อจัดส่งไปช่วยเหลือต่อไป นายแพทย์มงคล กล่าว พฤศจิกายน 7/3 ********** 26 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 15    26/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ