รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ. อบต. และอสม. เฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร – ยา -เครื่องสำอางที่จำหน่ายในจังหวัด หมู่บ้าน ชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย ตรวจอาหาร เช่น บอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน ยาฆ่าแมลง และเครื่องสำอาง เช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ รู้ผลรวดเร็ว จะจัดการปัญหาได้ทันที เผยผลตรวจในปี 2551พบสารฟอกขาว ยาฆ่าแมลง และฟอร์มาลิน ปนเปื้อนในอัตราสูง วันนี้(2 กุมภาพันธ์ 2552) ที่โรงแรมทวิน โลตัส จ.นครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมการถ่ายทอดภารกิจการตรวจวิเคราะห์ทางปฏิบัติการสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนปี 2552 เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนได้บริโภคอาหาร-ยา หรือใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากสารปนเปื้อนอันตราย ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสร้างความปลอดภัยอาหารในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังพบคนไทยเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีปีละกว่า 2 ล้านราย ที่น่าห่วงมากพบป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้าไป นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะเร่งขยายงานคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงระดับท้องถิ่น หมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อบต. และอสม.เป็นผู้ดำเนินการ และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอและสถานีอนามัยสนับสนุนทางวิชาการ เนื่องจากขณะนี้มักมีรถเร่หรือตลาดนัดมาขายอาหารสดหรือเครื่องสำอางอื่นๆ ในหมู่บ้าน ราคาถูก เป็นที่นิยมกันมาก จึงต้องหมั่นตรวจสอบด้านความปลอดภัย โดยจะเน้นให้ อบจ. อบต.และอสม.ใช้ชุดตรวจสอบอาหารอย่างง่ายที่ผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจการปนเปื้อนอาหารที่ประชาชนบริโภคทุกวันได้แก่ บอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน ยาฆ่าแมลง หรือตรวจไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอในเครื่องสำอาง จะรู้ผลรวดเร็ว สามารถจัดการปัญหาได้ทันที ซึ่งจะช่วยคัดกรองสิ่งที่เป็นอันตรายในชุมชนได้เป็นอย่างดี ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดทั่วประเทศ ปี 2551 โดยตรวจการปนเปื้อนสารอันตรายต้องห้ามใส่ในอาหาร 6 ชนิด ได้แก่ บอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว ฟอร์มาลินหรือน้ำยาดองศพ ยาฆ่าแมลง และสารเร่งเนื้อแดง ทั้งหมด 159,684 ตัวอย่าง พบสารอันตรายปนเปื้อน 3,362 ตัวอย่าง ที่พบมากที่สุดได้แก่ สารฟอกขาวที่มักใช้ในถั่วงอก หน่อไม้ 83 ตัวอย่าง รองลงมาคือยาฆ่าแมลงในผักกินใบ เช่น ผักชี คะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี 2,449 ตัวอย่าง และฟอร์มาลินในอาหารทะเล 376 ตัวอย่าง ซึ่งสารอันตรายเหล่านี้หากได้รับปริมาณน้อยจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเดิน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงจะเกิดการสะสมในร่างกายทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่หากรับประทานอาหารที่มีฟอร์มาลินปนเปื้อน พิษฉับพลันจะปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสียหมดสติ และอาจเสียชีวิตหากได้รับปริมาณมาก ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ ได้ชุดทดสอบอย่างง่าย ที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ ในการตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอางจำนวน 35 ชุด ได้แก่ ชุดทดสอบอาหาร 23 ชุด ชุดทดสอบเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย 5 ชุด ชุดทดสอบยาและวัตถุเสพติด 7 ชุด โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง จัดอบรมถ่ายทอดวิธีการใช้ชุดทดสอบดังกล่าว กุมภาพันธ์/2 ************************ 2 กุมภาพันธ์ 2552


   
   


View 10    02/02/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ