ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมป้องกันตาบอดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก เผยผลสำรวจล่าสุดพบทั่วโลกมีคนตาบอดสนิท 37 ล้านคน โดยอยูใน 2 ภูมิภาคนี้มากที่สุด 21 ล้านคน สาเหตุหลักมาจากโรคตาต้อกระจก และโรคเบาหวาน เร่งสร้างเครือข่ายป้องกันตาบอดครอบคลุมทุกชุมชน วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2549) ที่โรงแรมราชพฤกษ์ แกรนด์ โฮเทล จ.นครราชสีมา นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การป้องกันการตาบอดในภูมิภาคอินโดจีนและเอเชียอาคเนย์” ครั้งที่ 6 (The 6th WHO Inter – country Workshop of Indo-China and Asian Regions for Prevention of Blindness) และการประชุมองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการป้องกันตาบอดของประเทศสมาชิกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิคตะวันตก” (The Bi-regional International Agency for Prevention of Blindness (IAPB) Assembly for Southeast Asia (SEAR) and the Western Pacific Regions (WPR)) จัดโดยศูนย์จักษุสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัย จูเทนโด ประเทศญี่ปุ่น และองค์กรสนับสนุนการป้องกันตาบอดนานาชาติ (IAPB) มีจักษุแพทย์ประมาณ 120 คน จากกว่า 20 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก เข้าร่วมประชุม อาทิ กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ปากีสถาน บังคลาเทศ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อวางแผนการจัดระบบข้อมูลข่าวสารและการจัดบริการด้านจักษุวิทยา รวมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของ 2 ภูมิภาคนี้ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก คาดว่าทั่วโลกมีคนตาบอด 37 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 1.4 ล้านคน และมีผู้สายตาเลือนราง 124 ล้านคน ร้อยละ 90 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยคนตาบอดส่วนใหญ่ร้อยละ 82 มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบมากที่สุดในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 10 ประเทศ ประมาณ 12 ล้านคน รองลงมาคือภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกจำนวน 9 ล้านกว่าคน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตาบอดมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคต้อกระจก ร้อยละ 9 จากโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัยในผู้สูงอายุ รวมทั้งมีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ เช่น ต้อหินร้อยละ 12 เบาหวานขึ้นจอประสาทตาร้อยละ 5 และจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ริดสีดวงตา แผลที่กระจกตา รวมทั้งความผิดปกติแต่กำเนิดในเด็ก เช่นต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนดและการขาดวิตามินเอ เป็นต้น และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีคนตาบอดทั่วโลกเพิ่มเป็น 46 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจเมื่อพ.ศ. 2537 พบมีอัตราตาบอดสนิทเพียงร้อยละ 0.3 ซึ่งจัดว่าต่ำที่สุดใน ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าไทยมีคนตาบอดสนิทประมาณ 200,000 คน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุหลักมาจากโรคต้อกระจกสูงถึงร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม ในอนาคตแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จะทำให้โอกาสเกิดความพิการทางสายตาเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมทั้งปัญหาตาบอดที่เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โดยผู้มีปัญหาทางสายตากว่าร้อยละ 75 สามารถป้องกันไม่ให้เกิดตาบอดได้ จึงต้องวางแผนเพื่อป้องกันผลกระทบในอนาคตเป็นการด่วน นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการป้องกันปัญหาการตาบอดของประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคตาต้อกระจกเป็นส่วนใหญ่ จากการเสื่อมสภาพของเลนซ์ตาตามวัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำผ่าตัดผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก และโครงการแก้วตาดวงใจ เทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี เมื่อพ.ศ. 2544 - 2547 เพื่อระดมพลังผ่าตัดผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกที่ตกค้างตั้งแต่พ.ศ. 2537 ประมาณ 130,000 คนทั่วประเทศ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งมีปีละประมาณ 80,000 – 100,000 ราย ในปี 2550 นี้จะทำโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกอีก 80,000 ราย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิพอ.สว. ซึ่งจะทำให้ปัญหาตาบอดจากโรคตาต้อกระจกของคนไทยหมดไปในที่สุด ขณะเดียวกันจะเน้นการค้นหาผู้ป่วยตาต้อกระจกจากชุมชนต่าง ๆ โดยพลังของอสม. และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในแต่ละจังหวัด และเน้นการควบคุมป้องกันโรคในเรื้อรังที่เป็นสาเหตุให้เกิดตาต้อกระจก เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถป้องกันการตาบอดได้ จึงขอให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หมั่นสังเกตอาการผิดปกติทางสายตา เช่น เห็นเงาลอยไปมาในตา ปวดตา สายตามัวลง เห็นภาพซ้อน ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำและตรวจคัดกรอง ในรายที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการส่งต่อไปรับการตรวจรักษาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์ต่อไป นายแพทย์ปราชญ์กล่าว พฤศจิกายน7/1-2 ............................................... 26 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 10    26/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ