กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นจาก 39,135 ราย ในปี 2547 เป็น 91,003 รายในปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 132 แนะใช้หลัก 4 ป. ปราบยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งทำได้ด้วยประชาชนเอง คือ ปิดฝาโอ่งให้สนิท เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด วันนี้(6 กุมภาพันธ์ 2552) ที่โรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปติดตามการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ โดยมอบนโยบายว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข สนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีพัฒนาในสาขาต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และอสม. ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ รณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ นายมานิต กล่าวต่อไปว่า การตรวจเยี่ยมในวันนี้ มีการนำเสนอการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนอำเภอหนองสองห้อง ซึ่งเป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะไข้เลือดออกในปีนี้เป็นปัญหาสาธารณสุข จากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2547-2551 เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2547 พบผู้ป่วย 39,135 ราย ในปี 2551 เพิ่มเป็น 91,003 ราย คิดเป็นร้อยละ 132 สาเหตุเกิดจากฝนตกระยะยาว ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาเดียวกันคือเดือนมกราคม 2551 มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1,553 ราย ในปี 2552 เพิ่มเป็น 1,675 ราย โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพทุกกลุ่มอายุ หากได้รับการวินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือได้รับการดูแลไม่ถูกต้องความรุนแรงของโรคทำให้เสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกติดต่อกันโดยยุงลายเป็นพาหะ การพิชิตยุงลายจะป้องกันโรคไข้เลือดออก จึงต้องช่วยกันป้องกันอย่าให้ลูกยุงลายเกิด อย่าให้ยุงลายกัด ป้องกันอย่าให้ป่วย และเมื่อป่วยแล้วต้องรีบรักษาอย่าให้เสียชีวิต โดยใช้มาตรการ 4 ป. ปราบยุงลาย ซึ่งทำได้ด้วยประชาชนเอง ได้แก่ 1.ปิดฝาโอ่งให้สนิท 2.เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน 3.ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว และ4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ด้านนายแพทย์คิมหันต์ ยงรัตนกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในปี 2549 ขอนแก่นมีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1,483 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 84 ต่อประชากรแสนคน และปี 2550 พบ 917 รายคิดเป็นอัตราป่วย 52 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 44 ต่อประชากรแสนคน เพื่อลดอัตราป่วยและตาย จึงส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นายแพทย์คิมหันต์ กล่าวต่อไปว่า คปสอ.หนองสองห้อง จัดทำโครงการประเมิน/นิเทศ บ้าน ชุมชน ปลอดลูกน้ำยุงลาย อำเภอหนองสองห้อง เพื่อค้นหาปัญหาและเฝ้าระวังหมู่บ้านพื้นที่สูง ลดความชุกลูกน้ำยุงลาย ส่งเสริมการณรงค์การกำจัดลูกน้ำด้วยวิธีกายภาพและชีวภาพ ได้ให้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือนและชุมชนทุก 7 วัน จัดตั้งธนาคารปลาให้สถานีอนามัยนำไปปล่อยอย่างน้อยร้อยละ 30 ต่อหลังคาเรือน สุ่มตรวจความชุกลูกน้ำยุงลาย และติดตามผู้ป่วย/สงสัยไข้เลือดออกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยตั้งเป้าศูนย์สุขภาพชุมชนและสถานีอนามัย มีหมู่บ้าน/ชุมชน ผ่านเกณฑ์ปลอดลูกน้ำยุงลายอย่างน้อย 2 หมู่บ้าน ************************************ 6 กุมภาพันธ์ 2552


   
   


View 9    06/02/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ