สาธารณสุข ตั้งหน่วยเฉพาะกิจติดตามผลกระทบสุขภาพคนไทย และระบบบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก เพื่อเตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ชี้คนยากจน คนว่างงาน เด็กเล็ก คนชรา และกลุ่มมารดาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าห่วง อาจได้รับผลกระทบอย่างมาก นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าอาจรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีคนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคน และรัฐต้องปรับลดงบประมาณด้านต่างๆ รวมถึงด้านสาธารณสุขลง ส่งผลกระทบต่อสถานะสุขภาพของประชาชน ทำให้เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะซีด อัตราตายของเด็กต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งมีคนที่มีความเครียดและฆ่าตัวตาย มีความชุกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็มีการปรับตัวโดยลดการใช้จ่ายด้านสุขภาพลง ชะลอการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล และหันไปซื้อยากินเอง สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 คาดว่าจะมีคนว่างงานถึง 1 – 2 ล้านคน กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากก็คือ คนยากจน คนว่างงาน เด็กเล็ก คนชรา และกลุ่มมารดาที่ไม่ได้อยู่ในระบบที่จะได้รับการช่วยเหลือ นายแพทย์จักรธรรม กล่าวต่อว่า ในการเฝ้าระวังผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาพและระบบบริการสุขภาพของไทย 1 ชุด ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงฯและหน่วยงานนอก ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และได้ตั้งศูนย์ติดตามสถานะสุขภาพจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ (Health Intelligent Unit : HIU) เป็นหน่วยเฉพาะกิจ อยู่ที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นคณะทำงาน ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทย ติดตามประเมินสถานการณ์ ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาพและระบบบริการสุขภาพของไทย ทั้งภาครัฐเอกชนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องด้วย ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ในการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจต่อสุขภาพและระบบบริการสุขภาพของไทยนั้น จะดำเนินการเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยศูนย์ติดตามสถานะสุขภาพฯ จะติดตามรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพ และประชุมวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาพทั้งภาครัฐเอกชน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการต่างๆ เพื่อวางแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหา และนำเสนอผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุก 3 เดือน เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบาย และกำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะสำรวจข้อมูลผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อผู้ใช้แรงงานใน ปี 2552 และ 2553 ด้วย สำหรับคณะกรรมการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาพและระบบบริการสุขภาพของไทย ประกอบด้วย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่กำหนดทิศทาง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน ติดตามสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่หน่วยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจต่อสุขภาพ โดยระดมความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นด้านวิชาการ และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้บริหาร ****************************** 9 กุมภาพันธ์ 2552


   
   


View 8    09/02/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ