รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับเรื่องห้ามโฆษณาเหล้า ทำให้เจ็บตัว เพราะมีผลกระทบธุรกิจโฆษณา ปีละ 500,000 ล้านบาท แต่ไม่ท้อ พร้อมเดินหน้าต่อเพื่อความสุขของสังคมส่วนใหญ่ โดยในวันพรุ่งนี้จะเสนอพระราชบัญญัติควบคุมสุราเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแน่นอน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่อโฆษณา การจัดโซนขายสุรา และผุดอีก 2 โครงการใหม่ของสธ.เพื่อคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อมอบนโยบายการบริหารงานสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2550 นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวออกมามากในเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศอย.เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขถูกโจมตีมาก เพราะมีกลุ่มธุรกิจโฆษณาสูญเสียรายได้ 500,000 ล้านต่อปี แต่ต้องยอมเจ็บตัว จากการที่ได้มีการเสนอข่าวว่ากฤษฎีกาได้พิจารณาว่าประกาศอย.ฉบับนี้มิชอบนั้น ทางกฤษฎีกายังไม่ส่งเรื่องมายังกระทรวงฯ ส่วนในวันพรุ่งนี้จะเตรียมเสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองการบริโภคสุราเข้าครม. เพื่อออกมาเป็นกฎหมาย ซึ่งจะคลุมทั้งการโฆษณาการ จัดเขตห้ามขาย จะทำให้ปัญหาจากสุราลดลง เพราะขณะนี้มีคนตายจากอุบัติเหตุวันละ 37 คน ร้อยละ 80 มีสุราเป็นตัวนำ ยังมีปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม การฆ่าข่มขืน โรคเอดส์ และโรคอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเยาวชนประมาณร้อยละ 70 ต้องเข้า สถานคุมประพฤติ โดยมีสุราเป็นตัวนำ ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอกฎหมายควบคุมการบริโภคสุราต่อครม.แล้ว กฎหมายดังกล่าวจะต้องส่งไปกฤษฎีกาตีความและส่งไปยังสภา ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีก เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จะทำให้ประชาชนอยู่ในสังคมที่มีความสุข คาดว่าสังคมจะเห็นด้วยมากและช่วยกันผลักดัน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำ นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายที่จะให้สำนักงานาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลต่างๆต่างจังหวัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นไปเพื่อประชานไทย ก็คือ โครงการคนไทยไม่ทอดทิ้งกันด้านสุขภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ถูกทอดทิ้ง มี 2 เรื่อง ที่มุ่งเน้น คือโครงการจิตอาสา และงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยโครงการจิตอาสา ขอให้ทุกจังหวัด ประสานการทำงานกับชุมชนและท้องถิ่น เปิดโอกาสให้นักเรียนเยาวชน ชาวบ้าน มาร่วมกิจกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานีอนามัย ในโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้บรรยากาศมีการเอื้ออาทรต่อกัน อาสาสมัครได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยหากมีความเข้าใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปัญหาเรื่องการฟ้องร้องก็จะลดลง ส่วนโครงการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนมาก มีเจ้าหน้าที่ มีรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยถึงหมู่บ้าน เรียกว่าสังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดสรรงบรายหัวจากเดิมหัวละ 6 บาท เพิ่มให้เป็น 15 บาท ต่อหัว จ่ายตรงให้จังหวัดต่างๆ จะให้ดำเนินการให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2550 นายแพทย์มงคลกล่าว พฤศจิกายน *************************************** 27 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 14    27/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ