สธ.ชี้ภัยกินอาหาร น้ำไม่สะอาด ทำให้คนทั่วโลก ป่วยปีละ 40 ล้านคน ตายปีละกว่า 12 ล้านคน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้การขาดแคลนน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ทำชาวโลกเสียชีวิตปีละกว่า 12 ล้านราย เกิดปัญหาโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เฉพาะอุจจาระร่วงโรคเดียว ทั่วโลกป่วยปีละประมาณ 40 ล้านราย ตาย 3-4 ล้านราย ทางแก้ต้องให้ความสำคัญกับการจัดระบบสุขาภิบาลและน้ำสะอาดให้เพียงพอ ร่วมกับส่งเสริมพฤติกรรมส่วนบุคคล ได้แก่ การล้างมือ กินอาหารที่สุกและใช้ช้อนกลาง ส่วนสถานการณ์ในไทยขณะนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช้าวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2549) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนานานาชาติเรื่อง โรคติดต่อทางอาหาร น้ำ และโรคพยาธิจากสัตว์ ครั้งที่ 5 จัดโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยแพทย์ อาซาฮิกาวา ประเทศญี่ปุ่น เครือข่ายเวชศาสตร์เขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการศึกษาโรคจากพยาธิในปลา ประเทศเวียดนาม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่ติดต่อมาจากอาหาร น้ำไม่สะอาด รวมทั้งโรคที่เกิดจากสัตว์ โดยมีนักวิชาการจาก 14 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบสุขภาพของคนทั่วโลก สาเหตุจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือสารเคมีในอาหารและน้ำที่บริโภค รวมทั้งขาดระบบสุขาภิบาลที่ดี โดยเฉพาะส้วมที่เก็บกักอุจจาระไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีประชากรโลกเสียชีวิตจากการกินอาหารและน้ำไม่สะอาดปีละกว่า 12 ล้านคน โรคที่พบมากที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง ซึ่งต่อปีจะมีผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 40 ล้านคน เสียชีวิต 3-4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนโรคพยาธิยังพบผู้ป่วยทั่วโลกปีละ 133 ล้านคน สำหรับไทย สถานการณ์ของโรคดังกล่าวดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 – ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 1,051,447 คน ลดลงจากปี 2548 กว่า 1 แสนคน มีผู้เสียชีวิต 94 ราย พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี นอกจากนี้ โรคอื่นๆ ที่มาจากสาเหตุเดียวกัน เช่น บิด ไทฟอยด์ ไวรัสตับอักเสบ ก็ลดลงจากปีก่อนๆ ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยจะเสนอเรื่องโรคโบทูลิซึ่ม ที่เกิดขึ้นในปี 2549 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางอาหารจากการปนเปื้อนเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม ในกระบวนการผลิตหน่อไม้ปี๊บ ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจและไทยประสบความสำเร็จในการจัดการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ และการดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก มีผู้ป่วยคราวเดียวกว่า 100 คน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต ส่วนโรคที่เกิดจากปรสิตในสัตว์ ที่ประชุมจะเน้นสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของมนุษย์ ได้แก่ ปลา ซึ่งมักจะมีพยาธิใบไม้ ที่ทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับและในปอดของคน หากนำมาบริโภคดิบๆ ซึ่งในไทยเคยเป็นปัญหาเมื่อ 20 ปีก่อน “จากการศึกษาพบว่าน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาลที่ดี จะลดอัตราตายจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้ถึง ร้อยละ 69 และลดอัตราตายในกลุ่มทารกและเด็กเล็กได้ร้อยละ 55 ขณะที่การล้างมือให้สะอาดหลังออกจากห้องน้ำห้องส้วม จะลดโรคอุจจาระร่วงได้ร้อยละ 45 ดังนั้นทั้ง 3 มาตรการนี้ จึงช่วยลดปัญหาโรคติดต่อจากอาหารและน้ำได้ ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญและดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอาหารตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก จนถึงการผลิตเป็นอาหาร รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนล้างมือก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย การใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาได้อย่างมาก” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว พฤศจิกายน8/2 ********************************* 28 พฤศจิกายน


   
   


View 12    28/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ