กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมกับ 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน จัดทำกฎระเบียบและวิธีการรับรองมาตรฐานยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้สอดคล้องกันเป็นมาตรฐานกลางของอาเซียน เพิ่มความเชื่อมั่นคุณภาพ คุ้มครองความปลอดภัยประชากรอาเซียน 500 ล้านคน และเพิ่มศักยภาพการส่งออกตลาดโลกด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในช่วงปลายเดือนนี้ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนอกจากจะดูแลด้านความปลอดภัยทางสุขภาพ อาหารและที่พักแล้ว ยังได้เป็นคณะทำงานเพื่อปรับกฎระเบียบ และวิธีการรับรองผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิกให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานกลางหนึ่งเดียว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพประชากรอาเซียนซึ่งมีประมาน 500 ล้านคน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านของอุตสาหกรรมยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในตลาดโลก รวมทั้งการค้าขายภายในเขตเศรษฐกิจเสรีหรืออาฟต้า (AFTA:Asean Free Trade Area) โดยเริ่มตั้งแต่พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ตั้งเป้าจะให้สำเร็จภายใน พ.ศ.2558 เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจสมุนไพร ประชากรร้อยละ 70-80 ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ใช้การแพทย์ผสมผสานและสมุนไพร ซึ่งประเทศอาเซียนเป็นแหล่งที่มีสมุนไพรนับหมื่นชนิดเป็นจุดแข็งของภูมิภาคนี้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการปรับกฎระเบียบดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบ จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด ยาสมุนไพรและเครื่องเทศของไทยได้รับความนิยมจากต่างประเทศสูงขึ้น ในปี 2548 สมาชิกอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ มีการส่งออกสมุนไพรในตลาดอาเซียนด้วยกันมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยมีรายได้จากการส่งออกสมุนไพรทั้งยาและเครื่องเทศในปี 2551 รวม 2,498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 8 ขณะที่ ปี 2548 ไทยส่งออกสมุนไพรรวม 1,692 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า สมุนไพรเป็นได้ทั้งยาและอาหารบำรุงร่างกาย ขณะนี้มีประมาณ 100 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายควบคุมการใช้สมุนไพร ในการปรับกฎระเบียบและวิธีการรับรองผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ขณะนี้ได้ประชุมไปแล้ว 10 ครั้ง ได้ข้อสรุปขั้นต้นครอบคลุมทั้งกระบวนการก่อนผลิตจนถึงระบบการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด โดยข้อกำหนดกลางมุ่งเน้นที่คุณภาพความปลอดภัย ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากลจีเอ็มพี (GMP) การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ความปลอดภัยจากสารปนเปื้อนทั้งเชื้อโรค สารพิษ ยากำจัดศัตรูพืช ข้อห้ามในการใช้ รวมทั้งการกำหนดปริมาณของ วิตามิน เกลือแร่ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขั้นสูงสุด โดยจะนำเสนอความก้าวหน้าในที่ประชุมอาเซียนครั้งนี้ด้วย นายแพทย์พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันอย.ได้เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมของไทยในตลาดเสรีอาเซียนซึ่งจะเริ่มในปี 2553 เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ปรับปรุง พัฒนามาตรฐานด้วย ซึ่งไทยมีผู้ผลิตทั้งหมด 900 กว่าโรงงาน แต่มี 14 โรงงานเท่านั้นที่ได้จีเอ็มพี โดยมีทั้งหมด 8 สาขา คือ ผู้ส่งสมุนไพรดิบ สารสกัดสมุนไพร ยาสมุนไพร อาหาร และอาหารเสริมจากสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร สมุนไพรเพื่อการผลิตสัตว์ สมุนไพรเพื่อการเกษตร และผลิตภัณฑ์สปา อุปกรณ์สมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์ทางเลือก ********************************** 15 กุมภาพันธ์ 2552


   
   


View 8    15/02/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ