กระทรวงสาธารณสุข ปรับรูปแบบการแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับ อสม.และแกนนำหมู่บ้านทั่วประเทศ จัดทำแผนสุขภาพเฉพาะชุมชนของตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ตรงจุด พร้อมสร้างหมู่บ้านต้นแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นำร่องในปี 2552 จังหวัดละ 2 หมู่บ้าน รวม 152 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษา มหาวชิราลงกรณ วันนี้(23กุมภาพันธ์2552)ที่โรงแรมอมรินทร์ลากูนจังหวัดพิษณุโลก นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.จาก 17 จังหวัดภาคเหนือกว่า 1,800 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการสร้างขวัญกำลังใจ อสม. ปี 2552 และในช่วงบ่ายได้เดินทางไป จังหวัดสุโขทัย เพื่อเปิดหอประชุมคณะสงฆ์อำเภอกงไกรลาศ พบปะ อสม.และมอบนโยบายการทำงาน นายวิทยา กล่าวว่า วิถีชีวิตและการบริโภคอาหารของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการป่วยและตายจากโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสาเหตุการป่วยและการตายอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 พบคนไทยมีอัตราตายต่อประชากร 1 แสนคน ดังนี้ โรคมะเร็ง 85 คน โรคหัวใจและหลอดเลือด 55 คน โรคความดันโลหิตสูง 3.6 คน ประเด็นสำคัญคือ โรคเรื้อรังเหล่านี้เป็นโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา สิ่งมึนเมา สารเสพติด สารเคมี ความเครียดและการขาดการออกกำลังกาย นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำแต่ละหมู่บ้าน ร่วมกับ อสม. รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา และจัดทำเป็นแผนพัฒนาสุขภาพของชุมชน ซึ่งจะทำให้ได้แผนแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ตรงจุด ทั้งเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน และการควบคุมป้องกันโรค และในปี 2552 นี้ ได้จัดทำโครงการหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นำร่องจังหวัดละ 2 หมู่บ้าน รวม 152 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง 2 กระบวนการคือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที และการรับประทานผัก-ผลไม้สด วันละครึ่งกิโลกรัมหรือรับประทานผักครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ รวมทั้งลดอาหารประเภทไขมัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 20-30 ************************************************* 23 กุมภาพันธ์ 2552


   
   


View 9    23/02/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ