กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ลงนามบังคับใช้สิทธิให้คนไทยได้เข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี “เอฟาไวเรนซ์” ได้มากขึ้น เผยกระทรวง ทบวง กรมมีอำนาจสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.สิทธิบัตรได้ ในกรณีเพื่อสาธารณประโยชน์ ที่มิใช่เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในการนี้จะทำให้มียาที่ราคาถูกกว่ายาที่ติดสิทธิบัตรถึงร้อยละ 50 วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม และพลโทนายแพทย์มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าว “การบังคับใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด พ.ศ. 2542” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ป่วยเอดส์ทุกคนเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีประสิทธิผลสูงในการรักษา สามารถยืดอายุผู้ติดเชื้อและดำรงชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติ นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ประโยชน์ตามบทบัญญัติ มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาที่มีชื่อการค้าว่า สต๊อคคริน (Stocrin® ) มีชื่อสามัญคือ เอฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญตามสิทธิบัตรยาดังกล่าว เพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นบทบาทของกรมควบคุมโรคที่จะต้องออกประกาศใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจากเป็นกรมที่ดูแลเรื่องการระบาดของเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์โดยตรง โดยได้ลงนามแล้วในวันนี้ ทั้งนี้ ยาเอฟาไวเรนซ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นยาต้านไวรัสชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการรักษา แต่ยานี้มีเจ้าของสิทธิบัตร ทำให้องค์การเภสัชกรรมหรือผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถผลิตจำหน่ายเพื่อแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปฏิญญาที่ว่าด้วยทริปส์กับการสาธารณสุขซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกขององค์การการค้าโลก ระบุว่า ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะปกป้องการสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า ด้วยการบังคับใช้สิทธิในกรณีฉุกเฉินของชาติหรือภาวะอื่นที่เป็นเรื่องเร่งด่วนสุดยอดและภาวะวิกฤตสาธารณสุข รวมถึงโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.สิทธิบัตรไทย ที่ได้บัญญัติให้กระทรวง ทบวง กรม ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรใดๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่มิใช่ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ภายหลังการประกาศใช้สิทธิ กรมควบคุมโรคจะแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบโดยมิชักช้า พร้อมทั้งจะจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของสิทธิบัตรร้อยละ 0.5 ของยอดจำหน่ายออกจากคลังขององค์การเภสัชกรรม อายุของการบังคับใช้สิทธิครั้งนี้คือ 5 ปี ที่ผ่านมาการระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์ยังเป็นปัญหาสำคัญต่อการสาธารณสุข อัตราการติดเชื้ออัตราการป่วยและอัตราตายังคงเพิ่มสูงขึ้นทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จนถึงขณะนี้ประมาณว่ามีคนไทยกว่า 1 ล้านคนติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 5 แสนคนที่จำเป็นจะต้องใช้ยาต้านไวรัสฯ เพื่อการดำรงชีพเฉกเช่นบุคคลปกติ ในขณะที่งบประมาณสำหรับบริการผู้ติดเชื้อฯ/ผู้ป่วยเอดส์ในปี 2549 มีเพียง 2,796.2 ล้านบาท สำหรับผู้ป่วยจำนวน 82,000 ราย ในจำนวนนี้ มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้เข้าถึงยาเอฟาไวเรนซ์ ทั้งนี้ ผลกระทบจากการบังคับใช้สิทธิครั้งนี้ จะทำให้ยาราคาถูกลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายยาดังกล่าวลดลงประมาณกึ่งหนึ่ง และจำนวนผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อยาราคาถูกลงแล้ว จะทำให้มียาชื่อสามัญดังกล่าวที่จำหน่ายโดยองค์การเภสัชกรรมมีราคาถูกลงประมาณร้อยละ 50 (ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,400 บาทต่อคนต่อเดือน) และสามารถปรับสูตรการใช้ยานี้ให้กว้างขวางมากขึ้น หากกำหนดเป้าหมายผู้ป่วยเอดส์ที่จะได้รับยาเอฟาไวเรนซ์เพิ่มขึ้นจากปีละ 25,000 คนเป็นปีละ 100,000 คน จะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละกว่า 842 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการซื้อยาที่ติดสิทธิบัตร หรือประหยัดได้ประมาณ 4 พันกว่าล้านบาทภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า หลังจากการบังคับใช้สิทธิฯ เนื่องจากยาเอฟาไวเรนซ์ ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นยาที่มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า การขยายความครอบคลุมการเข้าถึงยาตัวนี้ในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ สามารถลดอัตราเสี่ยงของผู้ป่วยจากการแพ้ยาสามัญตัวอื่น ซึ่งในบางรายทำให้ผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิต การลดอัตราเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเอดส์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาอาการแพ้ยาด้วย ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ประกาศให้ยาต้านไวรัสเอดส์แก่ผู้ป่วยเอดส์ด้วยเงินงบประมาณตั้งแต่พ.ศ.2546 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้อบรมแพทย์ ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ 908 แห่ง เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์ทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และแม่หลังคลอด ด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งเป็นสูตรยารวม 3 ชนิดพร้อมกัน ขณะนี้มีผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไปแล้ว 105,736 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 84,162 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเอดส์ที่กินยาในสูตรที่มียาเอฟาไวเรนซ์ร่วมด้วย 16,000-17,000 ราย นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การใช้ยาเอฟาไวเรนซ์ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้นำมาใช้ในรายที่ดื้อยาสูตรพื้นฐานซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 - 15 ส่วนยาจีพีโอเวียร์ ก็ยังคงใช้อยู่ในสูตรยาพื้นฐานซึ่งมีประมาณ 6 ตำรับ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการข้างเคียง เช่นมีผื่นขึ้น วิงเวียนศีรษะ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วย ก็จะเปลี่ยนยาเป็นสูตรที่มีเอฟาไวเรนซ์ร่วมด้วย เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตหากยาเอฟาไวเรนซ์ ราคาถูกลงและมีจำนวนมากก็จะปรับสูตรให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม ได้เตรียมพร้อมการผลิต ยาเอฟาไวเรนซ์ ขนาด 600 มิลลิกรัม เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งจะทำให้ยาตัวนี้ราคาถูกลงไปอีก เหลือเพียงราคา 700 – 800 บาทต่อ 30 เม็ด สำหรับขั้นตอนในการผลิตนั้น อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนรับรองสูตรว่ามีสรรพคุณเทียบเท่ายาต้นแบบ คาดว่าจะสามารถผลิตได้เองประมาณเดือนมิถุนายน 2550 ในระหว่างนี้องค์การเภสัชกรรมจะนำเข้ายามาจำหน่ายชั่วคราวก่อน หลังจากนั้นหากผลิตได้จะมีกำลังผลิตปีละ 5 ล้านเม็ด สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยอย่างเพียงพอ *************************** 29 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ