กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเยาวชนไทยใช้เวลาช่วงปิดเทอมมุ่งมั่นกับการเล่นเกม จนเกิดปัญหาเด็กติดเกม จัดทำหนังสั้น 30 นาที แนะแนวทางให้เด็กนำพลังความมุ่งมั่นเป็นเซียนเกม ไปเป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จในชีวิตจริง พร้อมแจกฟรีที่สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โรงพยาบาลจิตเวช ทั่วประเทศ และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ หรือดาวน์โหลดที่ www.icamtalk.com
บ่ายวันนี้ (16 มีนาคม 2552) ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และนายธนากร พุฒิธนะสุนทร ผู้กำกับภาพยนตร์ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ลูกผู้ชายออนไลน์ หัวใจขาสั้น (Life Online)” จัดทำโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาติดเกมของเด็กไทย
นายมานิต กล่าวว่า ปัญหาติดเกมของเด็กและเยาวชนไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก หลายคนกลายเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ไม่รู้จักการใช้ชีวิตในสังคม ไม่สนใจการเรียน และล้มเหลวในการดำเนินชีวิตจริงในที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม หลายครอบครัวมีปัญหาว่าเด็กจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการเล่นเกม บางรายติดเกมหนักถึงขั้นไม่กินไม่นอน สร้างความหนักใจให้กับพ่อแม่อย่างมาก ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตหาแนวทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้จัดทำภาพยนตร์สั้น 30 นาที ในรูปแบบ ดีวีดีและวีซีดี เรื่อง “ลูกผู้ชายออนไลน์ หัวใจขาสั้น (Life Online)” ช่วยชี้แนะให้เด็กเรียนรู้ว่าหากนำพลังความมุ่งมั่นในการเล่นเกมที่มีอยู่ ไปใช้ในการทำภารกิจต่างๆ ในชีวิตจริงด้วย ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกับการเล่นเกม มีทั้งหมด 13,000 ชุด แจกจ่ายให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจฟรี ต่างจังหวัดขอรับได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง ในกรุงเทพฯ รับได้ที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ถ.พระราม 6 เขตพญาไท โทรศัพท์ 0-2354-8305 หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.icamtalk.com
นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตกำลังติดต่อกับเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมอีกหลายแห่ง เพื่อเพิ่มช่องทางดาวน์โหลดให้มากขึ้น รวมทั้งจะติดต่อฉายทางโทรทัศน์เสรีด้วย นอกจากนี้ ยังมีแผนแก้ปัญหาเด็กติดเกมต่อเนื่อง ได้แก่ จัดทำหนังสือสารคดีสั้น “เส้นทางชีวิตเด็กชอบเล่นเกม” เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กมัธยม ทดลองพัฒนาระบบดูแลเด็กติดเกมร่วมกับโรงเรียนมัธยมในกทม. 2 แห่ง เพื่อให้เด็กใช้ความสามารถทางคอมพิวเตอร์อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งอบรมหลักสูตรการดูแลช่วยเหลือเด็กชอบเล่นเกม ช่วยพ่อแม่ให้รับมือกับการเล่นเกมของเด็กช่วงปิดเทอมได้
ด้านนายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ กล่าวว่า เนื้อหาของภาพยนตร์จะเกี่ยวกับชีวิตของเด็กมัธยมปลาย 2 คนที่ชอบเล่นเกมมาก คนหนึ่งอยากเป็นเซียนเกม และมุ่งมั่นเล่นเกมจนได้เป็นเซียนเกมในที่สุด แต่มีชีวิตที่เคว้งคว้างไร้อนาคตเพราะเรียนไม่จบ ขณะที่อีกคนนำความมุ่งมั่นที่มีไปใช้ฝึกซ้อมดนตรีที่ชอบ และได้เข้าเรียนดุริยางค์ตามความใฝ่ฝัน ซึ่งการจัดทำได้มีการศึกษาวิจัยจากชีวิตเด็กติดเกมพร้อมพ่อแม่จำนวนหนึ่ง รวมทั้งได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาเด็กติดเกม และผู้เชี่ยวชาญการจัดทำบทภาพยนตร์ โดยได้ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผ่านประสบการณ์ ติดเกมอย่างรุนแรงมาแล้ว ทำให้สื่อออกมาได้ชัดเจน ซึ่งจากการนำไปทดลองกับเด็กที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมต้น 152 คน มัธยมปลาย 49 คน และมหาวิทยาลัย 106 คน พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยร้อยละ 77.5 เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีผลให้คนดูเกิดการเปลี่ยนแปลงการเล่นเกมที่เหมาะสมได้ ***********16 มีนาคม 2552
View 13
16/03/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ