กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่เป็นโรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อย่าหลงงมงายหมอเทวดา หรือเชื่อคำเล่าลือผลการรักษาว่าหายขาด อาจก่อผลเสียทำให้รักษาโรคล่าช้า ทำให้อาการกำเริบหนัก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เผยขณะนี้มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรความดันโลหิตสูงเกิดโรคแทรกซ้อนรวมกว่า 100,000 คน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว ที่อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ชื่อนายเวียนคึก อ้างตัวเป็นหมอเทวดาสามารถรักษาโรคให้คนไข้หายจากอาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ได้ ด้วยการจับชีพจร วัดความดันโลหิต และผ่าตัด เย็บแผลในรายที่มีอาการหนักโดยใช้มือเปล่า จ่ายน้ำดื่มแทนยา และไม่เรียกร้องค่ารักษา ใช้การบริจาคตามศรัทธา ทำให้มีชาวบ้านมารับการรักษาเป็นจำนวนมาก
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนี้เคยปรากฏเป็นข่าวมาครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กองควบคุมการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบถึงประชาชน หากป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาตามหลักวิชาการแพทย์แล้วปล่อยทิ้งไว้ หันไปรักษาด้วยวิธีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะช่วยรักษาโรคได้จริง ทำให้เสียเวลาในการรักษา จนอาการของโรคลุกลาม รักษายากหรือไม่สามารถรักษาได้ และขอให้ประชาชนใช้เหตุผลในการตัดสินใจในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง อย่าเชื่อจากคำบอกเล่า ปากต่อปาก ในการรักษาโรคต้องรักษากับสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย กับแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งจะทำให้มั่นใจในคุณภาพการรักษาพยาบาล
อย่างไรก็ดี ขณะนี้พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคเรื้อรังกันมากขึ้นที่สำคัญได้แก่โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการได้ โดยการกินยา การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ผู้ป่วยบางรายโรคยังเข้าใจผิด ว่าเมื่ออาการดีขึ้นคิดว่าหายขาด และหยุดยา หรือในบางรายคิดว่ามียารักษาหายขาดได้ โดยเฉพาะยาสมุนไพรซึ่งเป็นทางเลือกและผู้ป่วยมักจะตกเป็นเหยื่อหลงเชื่ออยู่เนืองๆ
ล่าสุดในปี 2548 สำนักระบาดวิทยาได้รายงานจากโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ใน 28 จังหวัดทุกภาค พบผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ระหว่างรักษา 310,401 ราย มากที่สุดคือจ.นครราชสีมาจำนวนกว่า 30,000 ราย นนทบุรี 25,000 กว่าราย ในจำนวนนี้มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย 64,545 ราย โรคแทรกซ้อนที่พบมากที่สุด คือการชาที่ปลายมือปลายเท้าพบเกือบร้อยละ 50 และเป็นโรคแทรกซ้อนหลายอย่างพร้อมๆกันเกือบ 10,000 ราย และมี 923 ราย ต้องตัดขาทิ้ง ส่วนโรคความดันโลหิตสูงมีรายงาน 378,254 ราย จังหวัดที่มีรายงานสูงสุดคือนนทบุรี จำนวน 32,915 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย 36,975 ราย ส่วนใหญ่มักเป็นโรคหัวใจ ไต อัมพาต
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า สาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วย 2 โรคดังกล่าว เกิดมาจากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่นไม่พยายามออกกำลังกาย ไม่ควบคุมอาหารการกิน กินตามใจปาก รวมทั้งกินยาไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อกินยาสมุนไพรแล้ว ก็มักจะหยุดกินยาแผนปัจจุบัน ทำให้อาการกำเริบภายหลังได้
****************************** 4 ธันวาคม 2549
View 14
04/12/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ