รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย นำคณะผู้เชี่ยวชาญโรควัณโรค เข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาวัณโรคดื้อยากับ 27 ประเทศ ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2552 ชี้เชื้อวัณโรคดื้อยามีผลให้ประเทศที่ประสบปัญหา มีอัตราตายของผู้ป่วยสูงขึ้นและต้องควักกระเป๋าหนักขึ้น คาดปีนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 500,000 ราย รัฐต้องควักเงินค่ารักษาสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเพิ่มอีก 9 เท่าตัวในอีก 6 ปี
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 1-3 เมษายน 2552 นี้ จะเป็นหัวหน้าคณะนำปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญด้านโรควัณโรค ไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี เรื่องวัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง (A Ministerial Meeting of High M/XDR-TB Burden Countries) จัดโดยองค์การอนามัยโลก ร่วมกับมูลนิธิบิลเกตต์ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายวิทยา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีรัฐมนตรีสาธารณสุขจาก 27 ประเทศที่มีปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานและเชื้อวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงระดับโลก ในส่วนของไทย ปัญหายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ไม่รุนแรงมาก พบผู้ป่วยประมาณร้อยละ 1-5 ทางองค์การอนามัยโลกจึงได้เชิญรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศไทย เข้าร่วมฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขแต่เนิ่นๆ โดยประเทศไทยจะกล่าวถึงสภาพปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานและดื้อยารุนแรง พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อแลกเปลี่ยนกับประเทศต่างๆ ด้วย ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากเวทีครั้งนี้ จะทำให้ไทยสามารถนำประสบการณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้จัดการปัญหาในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ในปี 2552 คาดว่าทั่วโลกพบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานในกว่า 50 ประเทศ ประมาณ 500,000 ราย ในจำนวนนี้ราวร้อยละ 50 อยู่ที่จีน อินเดีย โดยในผู้ป่วยรายใหม่พบปัญหาดื้อยาหลายขนาน ร้อยละ 3 ส่วนรายเก่าพบร้อยละ 5 ทำให้รักษาด้วยสูตรยาปกติไม่ได้ผล อัตราตายสูงขึ้นและเสียค่ารักษาสูงขึ้น เนื่องจากต้องรักษาด้วยสูตรยาพิเศษ ซึ่งมีราคาแพงและต้องใช้เวลานานถึง 18-24 เดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา เกิดจากการกินยาไม่ต่อเนื่อง จากการประเมินการสูญเสียค่ารักษา วัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนาน ในปี 2552 พบว่าสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 42,000 ล้านบาท คาดว่าปัญหาจะรุนแรงขึ้นในอีก 6 ปี หลายประเทศจะต้องเผชิญค่ารักษาผู้ป่วยประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีก 9 เท่าตัว คิดเป็นเงิน 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 385,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงการจ่ายเงินของผู้ป่วยเอง
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของวัณโรคของไทย ขณะนี้อยู่ลำดับที่ 18 ของประเทศที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรควัณโรคมากที่สุด 22 ประเทศ โดยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 90,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยประมาณร้อยละ 17 และจากการสำรวจพบวัณโรคดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยใหม่ ร้อยละ 1.65 ส่วนวัณโรคดื้อยารุนแรงมีประมาณ ร้อยละ 5 ของการดื้อยาหลายขนาน อัตราการรักษาหายขาดในผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปยังไม่ถึงร้อยละ 85 ซึ่งตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ไทยจะเข้มข้นที่มาตรการบริหารจัดการกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเน้นการกระจายการค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ทั้งในประชาชนทั่วไป ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ผู้ต้องขัง และให้การรักษาให้หายขาดภายใน 6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยา โดยมีผู้รับผิดชอบติดตามกำกับถึงตัวผู้ป่วย และอาศัยความร่วมมือของอสม.ทุกหมู่บ้าน ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาจนครบกำหนดหาย จากมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ มั่นใจว่าไทยจะสามารถป้องกันควบคุมปัญหาวัณโรคได้อยู่หมัด
******2 เมษายน 2552
View 12
02/04/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ