รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกเดินสายรณรงค์ห้ามดื่มเหล้าในยานพาหนะ ภายใต้คำขวัญ“รถปลอดเหล้า เราปลอดภัย”ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายฉลองสงกรานต์ ชี้ผลสำรวจล่าสุดพบคนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปดื่มเหล้าเกือบ 15 ล้านคน บ่ายวันนี้ (10 เมษายน 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานรณรงค์ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหรือบนยานพาหนะ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กทม. เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล 7 วันอันตรายฉลองสงกรานต์ วันที่ 10-16 เมษายน 2552 โดยในการรณรงค์ครั้งนี้ได้ปล่อยขบวนยมบาล ฉุดกระชาก ลาก จับวิญญาณ นักดื่มจอมซิ่งรถแหกโค้งตายยกคัน คาราวานรถปลอดเหล้า เราปลอดภัยและแจกถุงผ้า สติกเกอร์ห้ามขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สติกเกอร์กำหนดเวลาขายเหล้าตามกฎหมาย พัด น้ำดื่มบรรจุขวด และผ้าเช็ดหน้า 2,000 ชิ้น ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนมาตรการการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนที่รอโดยสารรถไฟกลับภูมิลำเนา นายมานิตกล่าวว่า ขณะนี้สาเหตุการบาดเจ็บของคนไทยอันดับ 1 มาจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งร้อยละ 40 เกิดจากเมาสุรา โดยผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุราจำนวน 14 ล้าน 9 แสนคน หรือทุกๆ 4 คน จะมีคนดื่มเหล้า 1 คน ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 6 เท่าตัวและอยู่ในเขตนอกเทศบาลมากกว่าในเขตเทศบาล เครื่องดื่มมึนเมา 3 ประเภทแรกที่ดื่มมากที่สุดๆได้แก่ เบียร์ร้อยละ 46 รองลงมาคือเหล้าขาว ร้อยละ 39 และเหล้าสีร้อยละ 11 โดยคนในเขตเทศบาลนิยมดื่มเบียร์มากที่สุด ส่วนคนนอกเขตเทศบาลนิยมดื่มเหล้าขาวกันมาก แนวโน้มในรอบ 11 ปีมานี้ พบคนติดเหล้ามากขึ้น จาก 7 ล้านคนในปี 2539 เพิ่มเป็น 10 ล้านคนในปี 2550 จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ทุกจังหวัด รณรงค์ควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหรือบนยานพาหนะ ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์มักจะพบว่าประชาชนนิยมนั่งดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ บนยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นคนขับหรือคนนั่งก็ตาม เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งการขับรถเฉี่ยวชนคนอื่น หรือเมาแล้วพลัดตกรถ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังควบคุมการจำหน่ายเหล้าเพียงวันละ 2 เวลาเท่านั้น คือ 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น. ห้ามขายเหล้าให้คนเมา รวมทั้งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดให้แก่เด็กอายุตำกว่า 20 ปี หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะมีผลต่อการควบคุมการทำงานของสมอง โดยหากมีแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ จะทำให้เกิดสนุกสนานร่าเริง หากมีระดับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ จะเสียการควบคุมการเคลื่อนไหว โอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็น 2 เท่าของคนไม่ดื่ม หากมีระดับ100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะทำให้เดินเซ ไม่ตรงทาง โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 6 เท่า ถ้ามีระดับ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ จะเกิดการสับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง ความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจะมากกว่า 40 เท่า และหากมี 300 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์จะง่วงซึม และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ อาจทำให้สลบถึงขั้นเสียชีวิตได้ ******************************************* 10 เมษายน 2552


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ