รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้เชี่ยวชาญการควบคุมโรคทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อวางมาตรการป้องกันควบคุมไม่ให้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดที่เม็กซิโกแพร่เข้าสู่ไทย โดยสาธารณสุขจะไม่เรียกชื่อว่าไข้หวัดหมู แต่ในระยะนี้จะเรียกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในเม็กซิโก ป้องกันการเข้าใจผิดของประชาชน และป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ยืนยันไทยวางมาตรการความพร้อมรับมือแล้ว ขณะนี้มีห้องแล็บสามารถตรวจยืนยันเชื้อชนิดนี้ได้ รายงานผลภายใน 4 ชั่วโมง วันนี้ (27 เมษายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค จากหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือการควบคุมป้องกันโรคไทย–สหรัฐอเมริกา ศูนย์สุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากรพ.จุฬาลงกรณ์และรพ.ศิริราช เพื่อติดตามสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดที่เม็กซิโก ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุมผ่านทางระบบดาวเทียมเชื่อมโยงกับสำนักควบคุมป้องกันโรคประจำ 12 เขตทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารในภูมิภาครับทราบมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของไทยต่อเชื้อดังกล่าวพร้อมกัน และอยู่ในทิศทางเดียวกัน ประเด็นที่ประชุมหารือในวันนี้ ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้แจ้งที่ประชุมว่า ที่เม็กซิโกได้รายงานตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วย 1,149 ราย ตาย 71 ราย อัตราป่วยตายประมาณ ร้อยละ 6 ส่วนในประเทศอื่นๆ พบผู้ป่วยที่สหรัฐอเมริกา 5 รัฐ คือ แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส แคนซัส นิวยอร์ค โอไฮโอ รวม 20 คน ไม่มีคนเสียชีวิต กำลังรอผลตรวจยืนยัน และมีผู้ป่วยที่สงสัยและกำลังติดตามตรวจสอบอยู่ที่อังกฤษและนิวซีแลนด์ ในส่วนของไทยมีมาตรการเฝ้าระวังในหมู่บ้านโดยใช้อสม. และมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการแยกผู้ป่วยให้การรักษาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น จะปรับความเข้มของมาตรการ เช่น อาจจะมีการตรวจคัดกรองคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง และมีการเตือนคนที่เข้ามาจากต่างประเทศ โดยจะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างองค์การอนามัยโลก เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้ ในที่ประชุม ได้หารือเกี่ยวกับการเรียกชื่อไวรัส เอช 1 เอ็น 1 ว่าไม่ควรเรียกสายพันธุ์นี้ว่าไข้หวัดหมู แต่ควรเรียกชื่อในระยะนี้ว่าไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ แคลิฟอร์เนีย 04 2009 (A/California/04/2009) หากเรียกไข้หวัดหมูประชาชนจะเกิดความเข้าใจผิด ไม่กล้ากินเนื้อหมู อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ และไข้หวัดตัวนี้ยังไม่เคยแยกเชื้อจากหมูแต่แยกได้จากคน ยืนยันการระบาดที่เกิดขึ้นไม่ได้ติดต่อจากหมูสู่คน อย่างไรก็ตาม การเรียกชื่อโรคในระยะต่อไปจะฟังข้อมูลและคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกด้วย ในส่วนของความพร้อมกระทรวงสาธารณสุขไทย ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขที่กรมควบคุมโรค ซึ่งจะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกวัน เพื่อประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงเชื้อกระจายเข้าสู่ประเทศ และปรับมาตรการป้องกันและแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการหลักคือ 1.การเฝ้าระวังโรคที่มีความเข้มแข็ง ค้นหาผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วนและไวที่สุด เพื่อควบคุมได้อย่างรวดเร็ว โดยมีทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็วกว่า 1,000 ทีม ครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ 2.การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ทั่วประเทศสามารถตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และรายงานผลยืนยันได้ภายใน 4 ชั่วโมง จำนวน 14 แห่ง มีรถตรวจยืนยันเชื้อเคลื่อนที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 คัน เชื่อมโยงเครือข่ายการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ 3.การดูแลรักษาผู้ป่วย ต้องวินิจฉัยเร็ว รักษาได้ทันท่วงที โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำคู่มือการคัดกรองเพื่อการรักษาผู้ป่วยรายสงสัยให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีห้องแยกการดูแลผู้ป่วยทุกแห่ง 4.การเตรียมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งไทยมีสต็อคยา ขณะนี้มียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ สำรองไว้ 3.2 ล้านเม็ด และยังไม่มีปัญหาการดื้อยา หากจำเป็นต้องใช้เพิ่มสามารถให้องค์การเภสัชกรรมผลิตได้อีกอย่างรวดเร็ว มีหน้ากากอนามัยชนิดเอ็น 95 กว่า 5 แสนชิ้น หน้ากากอนามัยทั่วไปเกือบ 3 ล้านชิ้น จะสั่งซื้อยาและอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มเติม มาตรการที่ 5 คือ การให้ข้อมูลประชาชน ให้รู้สถานการณ์ที่ถูกต้องและรู้วิธีในการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน โดยในวันนี้กรมควบคุมโรคจะออกประกาศคำแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.moph.go.th และ http:// blid.ddc.moph.go.th และตั้งศูนย์บริการข่าวสารทาง 02-5903333 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอครม. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อให้มีการประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับการตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กรมควบคุมโรคได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่สนามบินนานาชาติ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ และที่สุวรรณภูมิ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีไข้ เตรียมพร้อมที่จะใช้งานเมื่อมีความจำเป็น โดยจะดูแลผู้เดินทางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนไทย จึงขอให้ประชาชนไทยเชื่อมั่นมาตรการของไทยว่า มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างดีเยี่ยม ********************************* 27 เมษายน 2552


   
   


View 8    27/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ