กระทรวงสาธารณสุข กำหนดเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในเม็กซิโก ว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1” หรือชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” รวมตั้งแต่ต้นมีผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังโรค 4 ราย หายดีทั้งหมด ไม่มีผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันไข้หวัดใหญ่ เตรียมแผนรับมือในพื้นที่ จัดประชุมแพทย์ผู้รักษาป้องกันเชื้อดื้อยา และประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจัดซ้อมแผนร่วมกับมหาดไทย รวมทั้งจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 7-8 พฤษภาคมนี้ เช้าวันนี้ (1 พฤษภาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในวันนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ของกระทรวงสาธารณสุข (Operation Center for Preparedness and Response to Pandemic Influenza, Ministry of Public Health) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการอำนวยการ มีนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย อธิบดีทุกกรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการสั่งการ กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ วิเคราะห์สถานการณ์ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายต่างๆ ทั้งงบประมาณ อัตรากำลัง ให้เพียงพอ ชุดที่ 2 ศูนย์บัญชาการกระทรวงสาธารณสุข มีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าผู้ตรวจราชการ รองอธิบดีทุกกรม รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่บัญชาการเหตุการณ์ระดับกระทรวง มีโครงสร้างงาน 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนติดตาม กำกับ ประสานงาน ส่วนกำหนดกลยุทธ์และวางแผน ส่วนสนับสนุนงบประมาณ และการบริหาร ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์ และส่วนประสานต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้งานมีความครอบคลุม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ได้เปลี่ยนการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดหมู หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) และไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก เป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” (Influenza A H1N1) ซึ่งต่อไปนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยจะใช้ชื่อคล้ายกับขององค์การอนามัยโลก แต่เพิ่มคำว่า สายพันธุ์ใหม่ 2009 คือ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1” หรือชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน เชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส แต่ติดเชื้อได้ง่าย จึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28-30 เมษายน 2552 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักควบคุมป้องกันควบคุมโรคประจำเขต มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สะสม 4 ราย จากกทม. สมุทรปราการ และเชียงใหม่ โดย 3 ราย มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงในระยะ 7 วันก่อนป่วย อีก 1 ราย เป็นชายชาวออสเตรเลีย มีประวัติเดินทางไปมาเลเซียซึ่งไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงก่อนป่วย 2 สัปดาห์ เดินทางมาประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ตรวจพบมีไข้สูงจึงขอนอนพักที่ สถาบันบำราศนราดูร ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบรายใดติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จึงตัดออกจากรายการเฝ้าระวังทั้งหมด โดยในวันนี้ แพทย์อนุญาตให้ชาวออสเตรเลียกลับบ้านได้ ซึ่งทางสถาบันบำราศนราดูรได้จัดรถส่งถึงบ้านที่พัทยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ 24 เมษายน-1 พฤษภาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จาก 11 ประเทศ ทั้งหมด 257 ราย เสียชีวิต 8 ราย ประกอบด้วย อเมริกาป่วย 109 รายใน 11 รัฐ เสียชีวิต 1 ราย เม็กซิโกป่วย 97 ราย เสียชีวิต 7 ราย แคนาดาป่วย 19 ราย สหราชอาณาจักรป่วย 8 ราย สเปนป่วย 13 ราย เยอรมัน 3 ราย นิวซีแลนด์ 3 ราย อิสราเอล 2 ราย ออสเตรีย 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย และสวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย ทั้งนี้ มาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดในไทย กระทรวงสาธารณสุขจะจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ เพื่อจัดการซ้อมแผนรับมือหากเกิดการระบาดใหญ่ ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กับกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในด้านการแพทย์ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเคร่งครัดคือ การป้องกันปัญหาการดื้อยาต้านไวรัส โอเซลทาร์มิเวีย (Oseltamivir) ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีปัญหา เนื่องจากยาดังกล่าวต้องใช้โดยแพทย์สั่ง มีเฉพาะในสถานพยาบาล ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา ในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคมนี้ กรมการแพทย์จะจัดประชุมแพทย์ผู้รักษาและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีฯ ส่วนสต็อกยาโอเซลทาร์มิเวียนั้น ขณะนี้ได้สั่งสำรองเพิ่มอีก 10 เท่า และในระดับอาเซียนยังมีสต็อกอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์อีกประมาณ 5 ล้านกว่าเม็ด จึงมั่นใจว่าเพียงพอ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรมดุสิตธานี ตามที่ไทยเสนอรัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประธานรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดเข้าสู่อาเซียน และรับมือเร่งด่วนกรณีเกิดการระบาดในระดับภูมิภาค ในบ่ายวันที่ 7 จะเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงและนักวิชาการอาวุโส เพื่อหาข้อสรุปทางวิชาการ ส่วนเช้าวันที่ 8 จะประชุมระดับรัฐมนตรี สาระการประชุม ไทยจะเสนอเรื่องการเฝ้าระวังโรคข้ามแดนและตามแนวชายแดน ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสถานการณ์ การบริหารจัดการสต็อกยาต้านไวรัสที่สำรองไว้ระหว่างประเทศ และการผลิตวัคซีนอย่างเร่งด่วน ซึ่งยาต้านไวรัสมี 2 ประเทศที่ผลิตได้คือ ไทยและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ จะหารือเรื่องความร่วมมือเครือข่ายห้องชันสูตรโรคระดับภูมิภาค โดยจะนำข้อสรุปนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาโลกในกลางเดือนพฤษภาคม ที่สวิตเซอร์แลนด์ ********************************* 1 พฤษภาคม 2552


   
   


View 13       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ