สาธารณสุขร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทเริ่มรุ่นที่ 1 ในปี 2550 จำนวน 48 คน ตั้งเป้าในภาพรวมจะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นในอีก 12 ปี ให้ได้ 2 หมื่นคน ชี้ขณะนี้มีแพทย์ลาออกปีละ 800-1,000 คน ภารหนักอยู่ในภาคอีสาน แพทย์ 1 คน ดูแลประชากรสูงกว่าที่อื่น 2 เท่าตัว วันนี้(14 ธันวาคม 2549)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สุพัทธ์ พู่ผกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์สู่ชนบทให้เหมาะสม โดยมี รศ.น.พ.กิจประมุข ตันตยาภรณ์ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ น.พ.เจษฏา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และน.พ.สมนึก เชื้อทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ร่วมลงนาม โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2550 จำนวน 48 คน เป็นนักศึกษาแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 32 คน และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน 16 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ตามโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค 18,900 คน คน เฉลี่ยแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 3,305 คน หากเปรียบเทียบรายภาค แพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับภาระมากที่สุด แพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชากร 7,466 คน ในขณะที่มีแพทย์ทำงานอยู่ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่ม 9,300 คน แนวโน้มทำงานหนักมากขึ้น เมื่อเทียบกับปริมาณงานและความรับผิดชอบที่สูงกว่าอาชีพอื่นๆ ที่สำคัญการเรียนที่หนักและต้องเรียนนานถึง 5-6 ปี ทำให้ปัจจุบันเยาวชนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจเข้าเรียนแพทย์น้อยลงไปมาก นอกจากนี้สังคมในปัจจุบันแพทย์หลายคนยังถูกกระแสสังคมกดดัน มีปัญหาถูกร้องเรียนจากการรักษาเกิดขึ้นเกือบทุกวัน ทำให้แพทย์แทบจะหมดขวัญกำลังใจในการทำงาน ลาออกปีละ 800-1,000 คน บางจังหวัดขาดแคลนแพทย์ถึงร้อยละ 50 ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้ให้การดูแลทางด้านสวัสดิการ โดยเพิ่มค่าเสี่ยงภัยในจังหวัดชายแดน ค่าวิชาชีพแล้วก็ตาม ขณะที่มีแพทย์จบใหม่ปีละประมาณ 1,200 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ในการแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ นอกจากจะผลิตในระบบปกติปีละ 1,000 คนแล้ว ในช่วงปี 2547-2556 มีการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีกปีละไม่น้อยกว่า 1,200 คน โดยมีแผนการรับนักศึกษาแพทย์รวม 4 โครงการ โดยผลิตในสถาบันสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม และกรงเทพมหานคร 2 โครงการได้แก่ แผนรับนักศึกษาแพทย์ปกติของสถาบันผลิตแพทย์ปีละ 1,032 คน แผนเร่งรัดผลิตแพทย์เพิ่มของสถาบันผลิตแพทย์ปีละ 521– 734 คน ส่วนอีก 2 โครงการเป็นการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทตั้งแต่ 2538 – 2549 จำนวน 3,000 คน และโครงการเร่งรัดผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ตั้งแต่ 2547 – 2556 จะผลิตได้ 3,807 คน หากรวม 4 โครงการ จะมีแพทย์จบใหม่ในระหว่างปี 2553-2562 ได้ถึง 22,242 คน ซึ่งเป็นการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ประมาณ 27,000 คน ทางด้านนายแพทย์สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และผ่านขั้นตอนการตรวจเยี่ยมและประเมินความพร้อมหลักสูตร จากคณะผู้ประเมิน กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ของแพทยสภาแล้ว โดยมีโรงพยาบาลที่จะเข้าร่วมเป็นสถาบันร่วมผลิตในชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นการฝึกภาคปฏิบัติจริง 5 แห่ง ได้แก่ ร.พ.ตรัง ร.พ.วชิระภูเก็ต ร.พ.ทุ่งสง ร.พ.ท่าศาลา และร.พ.จุฬาภรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายแพทย์ให้เหมาะสม คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ตั้งแต่พ.ศ.2548-2556 รวม 9 ปี จำนวน 3,232 ทุน และได้กำหนดเงื่อนไขทำสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุน 12 ปี หรือชดใช้เงิน 2 ล้านบาทในกรณีที่ผิดสัญญา ธันวาคม 2 /7-8  14 ธันวาคม 2549


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ