กระทรวงสาธารณสุข เตรียมทดสอบการดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ชี้ปัญหาการดื้อยาที่พบที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมแพทย์ให้เคร่งครัดการใช้ยา ให้ใช้ในรายที่จำเป็นเท่านั้น นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเช้าวันนี้ (22 พฤษภาคม 2552) ว่า วันนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 22 ราย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีต่อระบบการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แสดงว่าประชาชนรู้ข้อมูลและให้ความร่วมมือปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น โดยหลังจากกลับจากต่างประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เมื่อมีไข้ก็เดินทางมาพบแพทย์ทันที การที่มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังจำนวนมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในพื้นที่แต่อย่างใด นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยต่างชาติอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง 3 ราย ประกอบด้วย ชาวสวีเดน 2 ราย และมาจากฮ่องกง 1 ราย โดยชาวสวีเดนอาศัยอยู่ในเมืองไทย เดินทางไปที่อินโดนีเซีย 14 วัน และไปที่มาเลเซียด้วยก่อนเข้าประเทศไทย เมื่อวิเคราะห์ประวัติและเส้นทางเดินทางของชาวสวีเดนรายนี้ไม่น่าห่วง อย่างไรก็ตาม กำลังตรวจสอบตัวอย่างที่ส่งมาจากโรงพยาบาลสมุทรปราการ ว่าติดเชื้อใช่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ส่วนรายฮ่องกงนั้นจัดเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระบบตามปกติ ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่ระบุว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ในไทยมีปัญหาดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ร้อยละ 70 นั้น ขอชี้แจงว่าเชื้อที่ดื้อยาที่พบส่วนใหญ่เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ในส่วนของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กระทรวงสาธารณสุขจะทำการทบทวนและนำเชื้อทดสอบมาทดสอบกับยาโอเซลทามิเวียร์ เนื่องจากขณะนี้ได้ทำการแยกเชื้อจากผู้ป่วยที่ยืนยัน 2 รายได้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาทดสอบไม่เกิน 1 เดือน อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท และความรอบคอบในการใช้ยาตัวนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงแพทย์ผู้ให้การรักษาทั่วประเทศแล้ว 1 ครั้ง และพยายามลดการใช้ยา กำหนดให้ใช้ได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ อยู่ในความดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์ 2 แห่ง อยู่ในระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่มีความปลอดภัยอย่างมาก ตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการดูแลเชื้อไข้หวัดนก ส่วนความคืบหน้าการตรวจผลชิ้นเนื้อปอดของหญิงชาวเยอรมันที่เสียชีวิตเมื่อ 18 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้ประสานเป็นการภายในกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างใกล้ชิด และจะหารือกันเร็วๆ นี้ หากผลการตรวจทราบผลชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ต้องขอเวลาสักระยะ เนื่องจากในเบื้องต้นพบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้มีประวัติค่อนข้างสลับซับซ้อน ทั้งในเรื่องน่าจะมีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เชื้อที่เกิดขึ้นอาจเป็นเชื้อที่ไม่ปกติ และยังมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจด้วย ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างการพิสูจน์ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว **************************** 22 พฤษภาคม 2552


   
   


View 13       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ