สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ผลิตแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ แก้ปัญหาขาดแคลนในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ในโรงพยาบาล 3 แห่งของจังหวัดพังงา ได้แก่ โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ โรงพยาบาลกะปงชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ โดยผลิตที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เริ่มปีนี้ 5.4 ล้านบาท วันนี้ (1 มิถุนายน 2552) ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี รองศาสตราจารย์ นพ.สุเมธ พีรวุฒิ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ วิลาศ สัตยสัณห์สกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ลดาวัลย์ ประทีปชัยกูร คณะบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สันติประชา คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล วุฒิจำนงค์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบุคลากรสาธารณสุข และด้านการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนและลดอัตราการสูญเสียบุคลากรในพื้นที่ทุรกันดารของจังหวัดพังงา ซึ่งประสบภัยสึนามิอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ต้องการให้พื้นที่ชนบทได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาระสำคัญข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกระทรวงสาธารณสุขและทรงห่วงใยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยสินามิในจังหวัดพังงา ที่ได้รับความเสียหายมาก ต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ทรงพระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา ปรับปรุงพัฒนาอาคารสถานที่โรงพยาบาล 3 แห่ง คือโรงพยาบาลเกาะยาว โรงพยาบาลกะปง และโรงพยาบาลคุระบุรี และพระราชทานชื่อ เป็นโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ โรงพยาบาลกะปงชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ และทรงมีกระแสรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มอัตรากำลังบุคลากรประจำในโรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง แต่ละแห่ง ควรต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ขั้นต่ำคือให้มีแพทย์ 2 คน ทันตแพทย์ 2 คน เภสัชกร 2 คน และพยาบาลวิชาชีพ 12 คนภายในพ.ศ. 2559 โดยพระราชทานทุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาให้เป็นทุนการศึกษาทั้งหมด และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรอัตรากำลังรองรับ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ ในการผลิตบุคลากรทั้ง 4 สาขาทั้งหมด เริ่มผลิตตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงพยาบาล 3 แห่งดังกล่าว มีแพทย์ประจำแห่งละ 1-2 คน ขณะที่ความต้องการตามเกณฑ์คือ แพทย์ 3-5 คน และยังขาดแคลนบุคลากรในอีกหลายสาขาอาชีพ สำหรับในปีการศึกษา 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นเงิน 5.4 ล้านบาท ผลิตแพทย์ 1 คน และพยาบาล 6 คน โดยคัดเลือกนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมที่สนับสนุนโดยมูลนิธิชัยพัฒนา และโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดพังงาที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของจังหวัดพังงา และหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ******************* 1 มิถุนายน 2552


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ