กระทรวงสาธารณสุข ประชุมวิชาการแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ที่เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยทั่วประเทศ พัฒนาความรู้การสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ ทั้งกลุ่มแรงงาน ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม พร้อมให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งมีระบบประเมินความเสี่ยงสุขภาพภายในปีงบประมาณ 2554 ล่าสุดครอบคลุมแล้วเกือบร้อยละ 80 เช้าวันนี้ (17 มิถุนายน 2552) ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กทม. นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง การป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 “วิกฤตเศรษฐกิจกับสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2552 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินงานด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่โรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินความเสี่ยงจากการทำงานของบุคลากร ในระดับดีมาก ในปี 2551 จำนวน 31 แห่ง โดยมีนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย องค์การภาคเอกชนและองค์กรประชาชน เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าวว่า ปัญหาอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยซึ่งมีการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การบริการต่างๆ อย่างรวดเร็ว จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมาได้ยาก ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากประชากรวัยแรงงานทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมและแรงงานนอกระบบแล้ว ยังมีผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ได้จัดระบบเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีความเสี่ยงจากการสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพอนามัย ความไม่ปลอดภัยจากสารเคมี และการใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการประเมินความเสี่ยงจากการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าโรงพยาบาลในสังกัด 872 แห่งดำเนินการครบภายในปีงบประมาณ 2554 ผลการดำเนินงานถึง 16 มกราคม 2552 ครอบคลุมโรงพยาบาลแล้ว 682 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78 โดยมีโรงพยาบาลที่มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก 45 แห่ง ด้านนายแพทย์พนมพันธ์ ศิริวัฒนานุกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคจากการประกอบอาชีพที่เป็นปัญหาและมีความเสี่ยงสูงมี 8 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคซิลิโคซิส (โรคปอดจากฝุ่นหิน) โรคพิษตะกั่ว โรคบิสสิโนสิส (โรคปอดจากฝุ่นฝ้าย) โรคแอสเบส-โตสิส (โรคพิษจากแร่ใยหิน) โรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช โรคพิษสารตัวทำละลาย โรคประสาทหูเสื่อม และการบาดเจ็บจากการทำงาน ส่วนโรคจากสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหามากในปัจจุบัน เช่น มลพิษจากอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง สารเคมีรั่วไหลที่คลองเตย กทม. มลพิษทางเสียงรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง การปนเปื้อนของแคดเมียมในนาข้าว อ.แม่สอด จ.ตาก สารตะกั่วที่ห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี สารหนูปนเปื้อนที่ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช และปัญหาบ่อขยะ จ.สระบุรี เป็นต้น ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อให้สอดรับกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ปัญหาแรงงานกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทิศทางการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยเพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิชาการด้านอาชีวอนามัยจากมณฑลกวางตุ้ง โดยมีนักวิชาการด้านอาชีวอนามัยของไทย นำเสนอผลงานทางวิชาการแบบบรรยาย 28 เรื่อง และแบบโปสเตอร์ 31 เรื่อง นายแพทย์พนมพันธ์ กล่าว **************************************** 17 มิถุนายน 2552


   
   


View 11    17/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ