รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้แก่ การควบคุมการขายเหล้าปั่น ป้องกันเด็ก เยาวชนเข้าถึงง่าย การพิมพ์ฉลากรูปภาพคำเตือนอันตรายเหล้าที่ผลิตหรือนำเข้าจำหน่ายในประเทศ คล้ายกับมาตรการเตือนภัยบุหรี่ และการแสดงข้อความคำเตือนพร้อมภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บ่ายวันนี้ (2 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 ซึ่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบของการนำมาผสมในน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำที่มีกลิ่นผลไม้ หรือสิ่งอื่นใดแล้วนำมาปั่นรวมกัน เช่น เหล้าปั่น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นและมีขายอย่างแพร่หลาย ตามร้านข้างถนน รอบๆ สถานศึกษา หรือรถเข็นตามตลาดนัด ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยยกเว้นให้ขายได้ในสถานบริการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะนำเข้าขอคำแนะนำจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเร็วๆ นี้ ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนาม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากฝ่าฝืนลักลอบขายจะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉบับที่ 2 เป็นร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับการพิมพ์ฉลาก ข้อความเตือน รูปภาพเตือนภัยพิษภัยอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้ภาชนะบรรจุที่มีลักษณะเป็นขวด ต้องมีปริมาณสุทธิไม่น้อยกว่า 250 มิลลิลิตร ส่วนภาชนะที่เป็นกระป๋อง ไห ถุง หรือรูปแบบอื่นๆ ปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่า 300 มิลลิลิตร โดยฉลากที่ติดข้างภาชนะหรือกล่องบรรจุ จะต้องไม่มีข้อความที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพ มีระดับสารอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป หรือมีลักษณะเป็นการโฆษณาทั้งโดยตรงหรืออ้อม และให้พิมพ์ข้อความว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามจำหน่ายแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท” เป็นภาษาไทย ตัวอักษรสีขาวบนแถบสีดำเข้ม ขนาดตัวอักษรใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ฉลาก อ่านง่ายและมองเห็นชัดเจน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดพิมพ์ภาพคำเตือนโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ที่ฉลากที่ติดข้างภาชนะและหีบห่อที่บรรจุ เป็นรูปภาพ 4 สี เช่นเดียวกับการเตือนภัยอันตรายของบุหรี่ อาทิ ดื่มสุราทำให้เป็นโรคตับแข็ง ดื่มสุราแล้วขับขี่ทำให้พิการและตายได้ ดื่มสุราทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้ ดื่มสุราทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ดื่มสุราทำร้ายตัวเอง ทำลายลูกและครอบครัว ดื่มสุราเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น โดยให้พิมพ์ในอัตรา 1 แบบต่อ 1,000 ขวด/กระป๋อง/กล่อง และขนาดข้อความไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกล่องบรรจุทรงสี่เหลี่ยม และไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 กรณีเป็นทรงกลม ทรงกระบอก หรือรูปแบบอื่นๆ นายมานิต กล่าวต่อว่า ฉบับที่ 3 เป็นร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยข้อความคำเตือนที่ต้องแสดงพร้อมกับภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.... กำหนดให้มีการแสดงคำเตือน เช่น สุราเป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง สุราเป็นสาเหตุทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สุราเป็นสาเหตุทำให้ขาดสติและเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เป็นต้น คู่กับข้อความคำเตือน “ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท” โดยหากเป็นสื่อทางกิจการโทรทัศน์ การฉายภาพ ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ การแสดงภาพผ่านเครื่องมือทางอิเลคทรอนิกส์ ต้องแสดงคำเตือนทั้งเสียงและอักษรลอย โดยแสดงเสียงไม่น้อยกว่า 3 วินาที และอักษรลอยสีขาวภายในกรอบที่มีพื้นสีดำเข้ม สูงไม่น้อยกว่า 1 ใน 20 ของความสูงจอภาพ และมีความยาวตลอดตามแนวนอนชิดขอบจอภาพด้านบนสุด หรือล่างสุด ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ ให้แสดงคำเตือนตามแนวนอนด้านบนสุดด้วยตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีดำเข้ม ขนาดไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่คำเตือน และมีพื้นที่คำเตือนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของพื้นที่โฆษณา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะปรับเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน และนำเสนอผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ต่อไป ********************************* 2 กรกฎาคม 2552


   
   


View 11       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ