จากกรณีที่มีข่าวว่า เด็กชายอานนท์ วัย 11 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 145 หมู่ 5 ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย พร้อมกับเพื่อนวัยเดียวกัน 9-10 คน นำเงินมาลงขันซื้อเบียร์ 5 ขวด และน้ำอัดลม 3 ขวดผสมกันในแก้วแล้วผลัดกันดื่มแล้วเสียชีวิตนั้น เกี่ยวกับความคืบหน้าดังกล่าว นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์แก่นักดื่มหน้าใหม่ที่ไม่ควรริลอง และขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ห้ามจำหน่ายสุราแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากการศึกษาทางวิชาการพบมีข้อมูลระบุชัดว่า เด็กที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนอายุ 13 ปี มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนโต ขณะนี้มีข้อมูลว่ากลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 10 ปี ประมาณร้อยละ 5 เริ่มดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการโฆษณา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์และภาพยนตร์ มีอิทธิพลชักนำให้เด็กดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ และอิทธิพลจากครอบครัวซึ่งเป็นฐานย่อยที่สุดของสังคมหน่วยแรก โดยครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ดื่ม ลูกจะมีโอกาสสูงที่จะเป็นคนดื่มในอนาคตด้วย นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กับน้ำอัดลมนั้น น้ำอัดลมจะให้แก๊สและความหวาน ทำให้กินง่ายและกินได้มากขึ้น เพราะรสหวานจะกลบความขมของแอลกอฮอล์ จึงทำให้เมาเร็ว และหากกินเหล้าในขณะท้องว่าง ไม่วาจะดื่มคู่กับน้ำอัดลมก็ตาม จะทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้เร็วขึ้น เร็วกว่า 5 นาที ฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัว และกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ถึงขั้นล้มเหลวในที่สุด อย่างไรก็ดี ได้ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กชายอานนท์ ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและอาสาสมัครสาธารณสุข ขอความร่วมมือเจ้าของร้านชำในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้จำหน่ายเกือบร้อยละ 100 ทำให้หาซื้อเหล้าเบียร์ได้ง่ายมาก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างเคร่งครัด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาแล้ว คือ 1.การห้ามขายสุราแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2.กำหนดเวลาขาย 2 ช่วง คือเวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17.00-24.00 น. นอกเหนือเวลานี้ไม่ให้ขาย 3.กำหนดสถานที่จำหน่าย ไม่ให้ขายสุราที่ศาสนสถาน สถานศึกษา รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องกัน รวมทั้งห้ามขายบริเวณปั๊มน้ำมันหรือบริเวณต่อเนื่องกัน 4.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 05.00น.-22.00 น. 5.การติดป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลางแจ้ง ต้องห่างจากสถานศึกษาทุกระดับในระยะ 500 เมตรขึ้นไป โดยในปี 2550 จะนำร่องเป็นสถานที่ราชการตัวอย่าง เป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจของศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในเด็ก ม.1-ม.6 พบนักเรียนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรก เมื่ออายุ 13 ปี เด็กใน กทม. ร้อยละ 35 ดื่มประจำทุกสัปดาห์ ในกลุ่มนี้ ร้อยละ 52 อยู่ในครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งกันมาก ส่วนเด็กต่างจังหวัดพบดื่มประจำทุกสัปดาห์ ร้อยละ 18 และอยู่ในครอบครัวที่ ทะเลาะเบาะแว้งกัน ร้อยละ 28 สาเหตุจูงใจที่ทำให้เยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า 1 ใน 4 ดื่มตามเพื่อน เห็นว่าโก้เก๋ หากเป็นผู้ใหญ่ ร้อยละ 16 ดื่มเพราะไม่มีอะไรจะทำ เพื่อเข้าสังคม ร้อยละ 11 ดื่มเพราะอยากลอง มีเพียงร้อยละ 1 ที่ดื่มเพราะกลุ้มใจ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่น ควรเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่ด้อยประสบการณ์ แต่อยากเป็นผู้ใหญ่ ตามร่างกายที่เติบโต ควรสร้างความสัมพันธ์ครอบครัวให้อบอุ่น ประการสำคัญ คือจะต้องไม่ดื่มเหล้า ให้ลูกเห็น หรือส่งเสริมลูกให้ดื่ม และให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก สร้างสรรค์ทางปัญญา บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม


   
   


View 11    03/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ