รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งทุกจังหวัด วางกรอบการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้เกิดความชัดเจน แตกต่างจากสถานีอนามัยเดิม ประชาชนสามารถจับต้องได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะการสร้างสุขภาพดี ลดจำนวนคนป่วยในอนาคต วันนี้ (5 ตุลาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูง อธิบดีทุกกรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศประมาณ 280 คน เพื่อชี้แจงและมอบนโยบายการดำเนินงานพัฒนาระบบสาธารณสุขภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง พ.ศ. 2553-2555 งบประมาณดำเนินการ 86,685 ล้านบาท เป็นการลงทุนครั้งใหญ่พัฒนาสถานพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุขตามความต้องการของพื้นที่จริง ซึ่งการดำเนินงานต้องมีความรอบคอบ และใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ซึ่งการบริหารโครงการนี้จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส อย่าหลงเชื่อหากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดหรือเป็นคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้แจ้งให้ทราบและจะทำการสอบสวนดำเนินการโดยเด็ดขาด นายวิทยากล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาสาธารณสุขในอนาคต จะเพิ่มน้ำหนักที่การส่งเสริมสุขภาพประชาชน ไม่ให้ป่วยให้มากขึ้น เพื่อลดจำนวนคนป่วยในโรงพยาบาลน้อยลง โดยพัฒนาสถานีอนามัย 9,762 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กระทรวงสาธารณสุขจะให้เป็นหน่วยบริการขั้นพื้นฐาน เน้นให้บริการเชิงรุกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เพิ่มจำนวนคนมีสุขภาพดี อย่างไรก็ดี คุณภาพการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านก็ต้องดีขึ้น โดยมีบุคลากรที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเวชปฏิบัติอยู่ประจำ และการเชื่อมต่อการขอคำปรึกษาทางไกลกับแพทย์ที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ ซึ่งต้องการเครื่องมือแพทย์และครุภัณฑ์สำนักงานที่จำเป็นในการดำเนินการ รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในชุมชนที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดโรคแทรกหรือพิการซ้ำซ้อน โดยใช้เตียงที่บ้านผู้ป่วยแทนเตียงโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลนั้นทำหน้าที่รักษาคนป่วยแล้วให้หายป่วย นายวิทยากล่าวต่อว่า สถานีอนามัยที่พัฒนาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้น จะต้องมีรูปแบบการดำเนินที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจน ไม่เปลี่ยนเพียงเฉพาะชื่อเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถจับต้องได้ ได้รับประโยชน์จากโรงพยาบาลแห่งนี้จริง ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ มีตัวแทนของโรงพยาบาลทุกระดับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถานีอนามัย มาระดมความคิด วางกรอบแนวทางทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนคนมีสุขภาพดี และลดจำนวนคนป่วยในอนาคตให้ได้ผล หากสามารถสร้างความเข้มแข็งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพได้ จะลดภาระของโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งค่าใช้จ่ายของประเทศได้ ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า งานส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไม่ป่วยนั้น เป็นงานที่ท้าทายมาก ประชาชนไทยยังไม่เคยชิน และปฏิบัติน้อยมาก จะต้องหากลยุทธ์ทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพไม่ให้ป่วย ให้เหมาะสมกับพื้นที่ จากการเดินทางไปดูรูปแบบการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งมีประมาณ 70 แห่ง พบว่ามีการจัดระบบการส่งเสริมสุขภาพที่เป็นรูปธรรม ประชาชนจับต้องได้ทันที โดยใช้ยุทธศาสตร์การตรวจสุขภาพประชาชนเคลื่อนที่ ค้นหาปัญหาสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทุกคน และจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อการดูแลที่แตกต่างกัน คือคนสุขภาพปกติ คนที่เสี่ยงจะป่วย และคนป่วยแล้ว ใช้งบลงทุนตรวจคนละ 30-50 บาท ซึ่งจัดว่าต่ำมาก แต่ให้ผลสูง พบว่าเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจดูแลสุขภาพได้อย่างดี สามารถจูงใจให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพเสีย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะให้เป็นพื้นที่นำร่องของประเทศด้วย ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า การทำคำขอของโครงการไทยเข้มแข็ง จะมีเจ้าภาพและกลไกการทำคำขอ โดยมีรองปลัดด้านบริหารเป็นประธาน มีผู้ตรวจ ผู้อำนวยการสำนัก และกรมที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นเลขา การเสนอโครงการต่างๆจะมีเจ้าภาพเป็นผู้รวบรวมคำขอ วิเคราะห์ความเหมาะสม เช่น กรณีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ศูนย์หัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ มีคณะกรรมการของแต่ละศูนย์ดูการวางสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ โครงการระดับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีสำนักบริการสาธารณสุขภูมิภาคเป็นเจ้าภาพรวบรวมคำขอจากจังหวัดผ่านการกลั่นกรองของผู้ตรวจราชการแต่ละเขตแล้วมานำเสนอ สำหรับโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีสำนักพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิร่วมกับสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาคเป็นเจ้าภาพ โครงการผลิตและพัฒนาบุคลากร มีสถาบันพระบรมราชชนกเป็นเจ้าภาพ และระบบข้อมูลข่าวสาร มีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นเจ้าภาพ โดยจะดูที่ความต้องการ ความจำเป็นในการพัฒนาระบบบริการ มีความเชื่อมโยงเป็นระบบ ไม่แยกว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือสถานีอนามัยให้สอดคล้องกับนโยบาย ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนที่มี 235 แห่งได้กำหนดวงเงินจำนวน 13,495 ล้านบาท และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มี 94 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์อีก 4 แห่ง ได้กำหนดวงเงินให้ 20,796 ล้านบาท และเนื่องจากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเน้นบริการในระดับสูง มีต้นทุนตึกขนาดใหญ่ เครื่องมือมีความซับซ้อนมากกว่าโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้รับงบสำหรับลงทุนน้อยมาก เพราะงบลงทุนทดแทนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถนำไปสร้างอาคารขนาดใหญ่และซื้อเครื่องมือราคาสูง ทั้งนี้หากรวมงบประมาณในโครงการสนับสนุนบริการ เช่น อาคารที่พักแพทย์พยาบาล ซึ่งจัดสรรให้กับโรงพยาบาลชุมชน 5,188 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปได้รับจัดสรร 1,036 ล้านบาท ก็จะเห็นว่าวงเงินร่วมไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ********************************** 5 ตุลาคม 2552


   
   


View 10    05/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ