กระทรวงสาธารณสุข เร่งบรรจุยาเซอร์ทราไลน์ รักษาโรคซึมเศร้า และยาริสเพอริโดนรักษาโรคจิตเภท มีความปลอดภัยสูง เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ กระจายให้ทุกโรงพยาบาลใช้รักษาผู้ป่วยทุกคน ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดงบซื้อยาปีละ 50 ล้านบาทในปี 2553 อนาคตจะพัฒนาระบบให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้ด้วย
วันนี้ (12 ตุลาคม 2552) ที่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต เชิญสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศ สำนักงานประกันสังคม และสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และส่งเสริมการเข้าถึงยาจิตเวชที่จำเป็น รวมทั้งติดตามปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน
นายวิทยา กล่าวว่า ตามที่สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยจิตเวช 2 โรคคือ โรคจิตและโรคซึมเศร้า โดยให้สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นและมีคุณภาพได้ รวมทั้งสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต และเครือข่ายผู้ดูแลและผู้ป่วยจิตเวช ได้เสนอว่าควรมียาที่มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับโรคจิตอย่างน้อย 1 ตัวและโรคซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ตัว นั้น
กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศ และสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต ซึ่งที่ประชุมมีมติที่จะผลักดันยาเซอร์ทราไลน์(Sertraline) รักษาโรคซึมเศร้า(Depressive disorder) และยาริสเพอริโดน (Risperidone) รักษาโรคจิตเภท(Schizophrenia) ซึ่งมีคุณภาพดี ความปลอดภัยสูง เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่ออนุมัติบรรจุยาเข้าไปในบัญชียาหลักแล้ว ใช้รักษาผู้ป่วยระบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยในปี 2553 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 50 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อยาให้กรมสุขภาพจิต กระจายยาให้โรงพยาบาลต่างๆเพื่อรักษา ผู้ป่วย มั่นใจว่าจะทำให้โรคจิตเภทและโรคซึมเศร้าทุกคน ได้เข้าถึงการรักษา รวมทั้งยาที่มีคุณภาพแน่นอน
ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2551 ประเทศไทย มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเริ่มต้นถึงรุนแรง ทั้งหมดร้อยละ 20 หรือ 12 ล้านคน โดยเป็นโรคจิตเภทรุนแรงประมาณ 3-6 แสนคน โรคซึมเศร้า ประมาณ 6 แสน-1.2 ล้านคน และโรคอารมณ์แปรปรวนประมาณ 2 .4 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เข้าถึงบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 4 หรือ 4.8 แสนคนเท่านั้น
นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อว่า สำหรับยาเซอร์ทราไลน์และยาริสเพอริโดน เป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ประเทศไทยสามารถซื้อวัตถุดิบมาผลิตเองได้โดยไม่ต้องประกาศทำซีแอล จะทำให้ราคายาถูกลงกว่าเดิมมาก ยาทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อยมาก โดยยาเซอร์ทราไลน์ เป็นยาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รักษาอาการคุ้มคลั่ง(mania) รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ( Obsessive compulsive disorder) รักษาอาการอารมณ์แปรปรวน 2 ขั้วที่เรียกว่าไบโพล่าร์ ( Bipolar disorder) และรักษาพฤติกรรมก้าวร้าว มีผลข้างเคียงน้อย ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้าถึงยาชนิดนี้เพียง 4.8 หมื่นคน หรือร้อยละ 4 จากจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 1.2 ล้านคน เนื่องจากยาต้นตำรับ ราคาเม็ดละ 37 บาท ผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายคนละ 13,505 บาทต่อปี ส่วนยาริสเพอริโดน เป็นยารักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท รักษาได้ผลดี มีผลข้างเคียงน้อย ประเทศไทยผู้ป่วยที่เข้าถึงยาตัวนี้มีน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 5 จากผู้ป่วยที่มีกว่า 6 แสนคน ยาต้นตำรับราคาเม็ดละ 58 บาท ต้องกินวันละ 2 เม็ด ดังนั้นผู้ป่วย 1 คน จะมีค่ายาปีละ 42,340 บาท โดยหากไทยสามารถผลิตยาทั้ง 2 ตัวนี้ได้เอง จะทำให้ราคายาถูกลง จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวช มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในด้านการเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้ป่วย เนื่องจากโรงพยาบาลจิตเวชและคลินิกจิตเวชมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนสถานบริการใกล้บ้านก็ไม่มียา และการถึงยายังได้น้อยเนื่องจากยามีราคาแพง และผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขณะนี้กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนาระบบการส่งต่อเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชรักษาใกล้บ้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง โดยส่งเสริมให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชน สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยและสั่งยาใช้ยาได้ภายในโรงพยาบาล จะทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากขึ้น มั่นใจว่าระบบนี้จะสามารถลดอาการกำเริบและต้องเข้าโรงพยาบาลจากปัญหาขาดยาได้
***************************************** 12 ตุลาคม 2552
View 13
12/10/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ