รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งจิตแพทย์จากกรมสุขภาพจิต ดูแลจิตใจน้องมิ้นท์ เป็นกรณีพิเศษอย่างเร่งด่วน เพื่อคลายความเครียด ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้พฤติกรรมการฆ่าแล้วหั่นศพ บ่งบอกถึงความรุนแรง โหดเหี้ยม ต้องวิเคราะห์พื้นฐานจิตใจว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ จากกรณีที่มีการข่าวฆ่าโหดสองแม่ลูกต่อหน้าบุตรสาวคนโต ที่รอดชีวิตคือ น้องมิ้นท์ อายุ 13 ปี โดยผู้เสียชีวิตเป็นหญิงวัย 38 ปี ถูกยิงและได้นำศพทิ้งข้างทาง และยิงเด็กชายวัย 5 ปีแล้วหั่นศพก่อนนำไปทิ้งเช่นกัน ขณะนี้เด็กหญิงคนดังกล่าวได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 กรุงเทพมหานคร วันนี้ (14 ตุลาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต ส่งจิตแพทย์เข้าไปดูแลน้องมิ้นท์ ซึ่งเข้าใจว่ามีสภาพกดดันมากเพราะเห็นแม่และน้องถูกฆ่าตายต่อหน้า ต้องได้รับการดูแลสภาพจิตใจอย่างเร่งด่วน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องดูแลเป็นพิเศษ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่าประชาชนไทยมีภาวะเครียดเพิ่มมากขึ้น มอบนโยบายให้หาทางคลี่คลายสภาพปัญหาความเครียดของประชาชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาดูแลและแก้ปัญหา ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อเช้าวันนี้ กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้ แพทย์หญิงศุภรัตน์ เอกอัศวิน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นำทีมเข้าไปให้การดูแลจิตใจของน้องมินท์แล้ว จากพฤติกรรมการฆ่าแล้วหั่นศพ บ่งบอกถึงความรุนแรงและมีจิตใจโหดเหี้ยม ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ดูพื้นฐานของจิตใจ รวมถึงตรวจว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือไม่ ขณะนี้พบว่าคนไทยมีปัญหาซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งต้องได้รับการดูแล กรมสุขภาพจิตมีพระราชบัญญัติสุขภาพจิตซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการบังคับใช้ โดยเปิดโอกาสให้นำผู้ป่วยที่มีอาการมาบังคับเข้ารับการรักษา นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อว่า จากสถิติพบว่าคนไทยปัญหามีปัญหาโรคซึมเศร้า 1.2 ล้านคน แต่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง 3 แสนคน มีภาวะอารมณ์แปรปรวน 1 แสนคน จึงพยายามเร่งให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการการบำบัดรักษาอย่างถั่วถึง พร้อมกันนี้ได้ให้ความรู้พื้นฐานในการคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นแนวร่วมในการค้นหาผู้ป่วยและส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลต่อไป ทางด้านแพทย์หญิงศุภรัตน์ เอกอัศวิน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปดูแลสุขภาพจิตของเด็กรายดังกล่าวร่วมกับทีมสุขภาพจิตของโรงพยาบาลพระราม 9 พบว่าสภาพจิตใจของเด็กไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างที่น่าเป็นห่วง สามารถพูดคุยและตอบคำถามได้ ซึ่งในระยะนี้เด็กจะอยู่ระยะตกใจ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้สึกปลอดภัย ทั้งนี้หลังจากที่เด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะส่งทีมจิตแพทย์เข้าไปติดตาม และดูแลจนกว่าจะหายเป็นปกติ คาดว่ากระบวนการดูแลทั้งหมดจะใช้ระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ครอบครัว ญาติ หรือผู้ที่ดูแล จะต้องให้กำลังใจและดูแลเด็กควบคู่กันไปด้วย ****************** 14 ตุลาคม 2552


   
   


View 8    14/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ