รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายเร่งตั้งคลินิกรักษาผู้เจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ใช้แรงงานราว 38 ล้านคน ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ขณะนี้มีแล้ว 26 แห่ง ปี 2553 เพิ่ม 22 แห่ง ครบ 96 แห่งในปี 2559 เผยในปี 2551 พบผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานถึง 176,502 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 20 ราย นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในและนอกระบบ ซึ่งมีประมาณ 38 ล้านคน โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด เริ่มต้นจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปจัดตั้งคลินิกรักษาโรคจากการทำงานทั้งในภาคเกษตร อุสาหกรรม อุตสาหกรรมบริการต่างๆ ขณะนี้มีแล้ว 26 แห่ง มีศูนย์ใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และมีนโยบายให้ทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงาน เพื่อรองรับวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ระหว่างพ.ศ. 2550-2559 ในการดูแลผู้ประสบอันตรายและเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน โดยได้หารือแนวทางดังกล่าวกับนางสมบุญ สีดำดอกแด และนายธฤต มาตกุล สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ นายสมหมาย เอื้อไธสง กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก และนายไพโรจน์ โครตสังข์ สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ทุกฝ่ายเห็นด้วย และได้มอบหมายให้นายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานหลักในเรื่องนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลกองทุนเงินทดแทนปี 2551 มีผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานถึง 176,502 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 20 ราย จากจำนวนลูกจ้างในความคุ้มครองทั้งหมด 8,135,606 ราย โดยเฉพาะกรณีร้ายแรงซึ่งพบได้ 6 คนต่อแรงงงานทุก1,000 คน เมื่อประสบอันตรายจะหยุดงาน พิการ ทุพลภาพ และเสียชีวิตได้ ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลพิษ โดยเฉพาะการใช้สารเคมีทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สถานที่ทำงานไม่ปลอดภัย ทางด้านนายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงแรงงาน ตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาล ที่อยู่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขระดับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ มาตั้งแต่ปี 2548 จำนวน 26 จังหวัด คือ กทม. ที่รพ.นพรัตนราธานี นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม นครราชสีมา อุบลราธานี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และภูเก็ต ในปี 2553 จะเพิ่มอีก 22 แห่ง รวมเป็น 48 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้ครบ 96 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2559 โดยทุกคลินิกจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ พยาบาลอาชีวอนามัย พร้อมเครื่องมือในการตรวจคัดกรองความเสี่ยง มีการจัดสถานที่และช่องทางการรับบริการให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการด้วยความพึงพอใจ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับครบทั้ง 4 มิติ คือ การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การวินิจฉัยโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพ


   
   


View 15    29/10/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ