ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปีงบประมาณ 2553 วางมาตรการรับมือช่วงภัยหนาว สั่งทุกโรงพยาบาลเตรียมพร้อมกำลังคน เครื่องมือ แพทย์ ยารักษา จัดระบบโซนนิ่งผู้เชี่ยวชาญดูแลผู้ป่วย ให้ทุกจังหวัดบูรณาการป้องกันควบคุมกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ การรวมตัวคนหมู่มากในเทศกาลต่างๆ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคที่ไทยสั่งจองซื้อ 2 ล้านโดส ได้แน่นอน จะทยอยถึงไทยในธันวาคมนี้
วันนี้(2 พฤศจิกายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่ 5/2552 โดยมีนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและตัวแทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อทบทวนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และผลการดำเนินงานจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อนำมาวางแผนเตรียมรับการระบาดในระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของไทย
พลตรีสนั่น กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มขึ้นใน 46 รัฐ ประกอบกับเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินไข้หวัดใหญ่ 2009 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น สำหรับประเทศไทยจากการเฝ้าระวังตั้งแต่ 28 เมษายน 2552 - 24 ตุลาคม 2552 พบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันได้ขยายตัวไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเกือบทุกอำเภอ คาดมีคนไทยติดเชื้อและมีภูมิต้านทานโรคแล้วประมาณ 6 ล้านคน โดยพบผู้เสียชีวิต 182 ราย เป็นชาย 90 ราย หญิง 92 ราย พบมากในอายุ 31-40 ปี การเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง โดยสัดส่วนของผู้เสียชีวิตของไทยคิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก ในภาพรวมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังคงมีต่อเนื่องทุกภาค มีไปจนถึงปลายปี และอาจขยายตัวเป็นการระบาดระลอกใหม่หากมีปัจจัยเสริม เช่นอากาศที่เย็นลง มีการแพร่เชื้อมาจากประเทศในซีกโลกเหนือ รวมทั้งหากมาตรการป้องกันในประเทศหย่อนประสิทธิภาพลง
ในการประชุมในวันนี้ ได้มีการทบทวน 3 มาตรการหลักที่ใช้รับมือหลังโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดตั้งแต่เมษายน - ตุลาคม 2552 มาตรการแรกได้แก่ การเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ และที่ด่านควบคุมป้องกันกันโรค ได้ข้อสรุป โดยยกเลิกการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมสแกน(Thermoscan) ซึ่งใช้เฝ้าระวังโรคภายในประเทศและด่านสุวรรณภูมิ เนื่องจากโดยธรรมชาติการระบาดของโรค เครื่องมือไม่สามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมาตรวจผู้เดินทางทั้งหมด 6 ล้านคน แต่พบผู้ป่วยยืนยันเพียง 1 ราย ดังนั้นจึงจะใช้วิธีผลิตสื่อให้ความรู้กับผู้เดินทางแจกที่ด่านสุวรรณภูมิ เพื่อให้เกิดผลทางการปฏิบัติแทน
มาตรการที่ 2 การดูแลรักษาพยาบาล ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทีมงานวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิต ให้โรงพยาบาลทุกระดับเตรียมความพร้อม เช่น วัสดุ อุปกรณ์ ยา ครุภัณฑ์ การตรวจวินิจฉัยโรคที่รุนแรง การระบาดและการเสียชีวิต การจัดระบบโซนนิ่ง(Zoning) กำหนดพื้นที่รับผิดชอบ และการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงรักษาต่อ โดยมีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา จัดระบบที่ปรึกษาทางโทรศัพท์แก่แพทย์โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญตรวจเยี่ยมในพื้นที่ที่พบปัญหา รวมทั้งให้จัดอบรมพัฒนาบุคลากร การกระจายคู่มือการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
มาตรการที่ 3 ได้แก่ มาตรการทางสังคม ซึ่งจะช่วยในการป้องกันควบคุมโรคได้ดีขึ้น ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำแนะนำในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจัดทำข้อมูล เอกสารคำแนะนำเผยแพร่ที่ชัดเจน เพื่อเป็นกรอบให้หน่วยงานต่างๆนำไปจัดทำแผนบูรณาการ และให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการของจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและปศุสัตว์ เพื่อผลักดันให้ทุกหน่วยงานในแต่ละจังหวัดจัดทำแผนบูรณาการ ทั้งด้านคำแนะนำ มาตรการดำเนินงานที่สำคัญในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่เสี่ยงเชื้อแพร่ระบาดให้ชัดเจน เช่น ผู้เดินทางจากต่างประเทศ โรงเรียน โรงพยาบาล เรือนจำ โรงงาน สถานประกอบการ สถาบันกวดวิชา ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านเกมส์ เกสเฮ้าส์ รถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งเทศกาลงานบุญต่างๆ ที่มีประชาชนรวมตัวจำนวนมาก
ทางด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่อาจเกิดในระลอก 2 เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิตของประชาชน จะต้องเข้มข้นใน 2 เรื่องหลักได้แก่ เรื่องแรกได้แก่การให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการรณรงค์กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะต้องระดมทุกหน่วยงานช่วยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่เพียงจะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังสามารถป้องกันโรคติดต่ออื่นๆได้ด้วย และเรื่องที่ 2 คือการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคของแพทย์ จะต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตั้งแต่คลินิก โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐเป็นแนวทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งในวันนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ชุดขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ชุดการประชาสัมพันธ์และชุดด้านการแพทย์ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ พร้อมวงเงินงบประมาณที่จะดำเนินการตลอดปี 2553 ซึ่งจะมีการตั้งงบค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย และให้นำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้านี้
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2552 องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 414,000 ราย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 ราย ข้อมูลนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากการระบาดได้ขยายไปสู่ชุมชนของประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสที่สำคัญ และยังไม่พบปัญหาการดื้อยาโอเชลทามีเวียร์ในระดับที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุข และเชื้อยังไม่มีปัญหาดื้อต่อยาซานามิเวียร์
ทั้งนี้แนวโน้มการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล กำลังลดลงเนื่องจากสิ้นสุดฤดูหนาว แต่ในประเทศซีกโลกเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดาและยุโรป การระบาดมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ประเทศมองโกเลีย รวันดา และประเทศเซาตูเมและปรินซิปี ประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรก ได้แก่ ประเทศไอซ์แลนด์ ซูดาน และประเทศตรินิแดดและโตเบโก ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีแนวโน้มจะกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในประเทศต่างๆทั่วโลกในปีต่อๆไป
************************************* 2 พฤศจิกายน 2552
View 11
02/11/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ