กระทรวงสาธารณสุขเผย ผลสอบสวนข้อเท็จจริงเด็กวัย 2 ขวบที่จ.พระนครศรีอยุธยา หลังฉีดวัคซีนแล้วชัก เกิดจากมีไข้สูงซึ่งเป็นอาการข้างเคียงปกติหลังฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไม่ได้เกิดจากวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ ยันวัคซีนที่ฉีดไม่มีสิ่งปนเปื้อน จากกรณีร้องเรียนของ น.ส.เพ็ญแข แก้วฟ้า อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 1 ต.บ้านป้อม อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นำบุตรชายคือเด็กชายอชิตพล หรือน้องมิว อายุ 2 ขวบ 1 เดือน ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี ที่สถานีอนามัย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 หลังได้รับวัคซีนแล้ว บุตรชายมีอาการตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง และชักกระตุก จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา รักษาตัวอยู่ห้องไอซียู นาน 10 วัน หลังกลับจากโรงพยาบาลบุตรมีพัฒนาการช้าลง ต้องฝึกพูด และทำกายภาพบำบัดมาตลอด รวมทั้งต้องกินยาแก้ลมชักทุกวัน ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2552) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยา ตรวจสอบข้อเท็จจริง และจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ผลสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดอาการชัก ไม่ได้เกิดมาจากการฉีดวัคซีนเจ อี (Japaness Encephalitis :JE ) ที่ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ แต่เกิดมาจากอาการไข้สูงหลังฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 11 มีนาคม 2552 เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านป้อม อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ให้วัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เข็มที่ 1 วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก กระตุ้นเข็มที่ 1 และหยอดวัคซีนป้องกันโปลิโอ ครั้งที่ 4 แก่เด็กชายอชิตพล หรือน้องมิว หลังจากได้รับวัคซีนเด็กมีไข้ มารดาให้รับประทานยาลดไข้ และวันที่ 12 มีนาคม 2552 ยังมีอาการไข้มารดาจึงพามารักษาตัวที่รพ.พระนครศรีอยุธยา แพทย์ให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน และในวันที่ 13 มีนาคม 2552 เด็กอาการไม่ดีขึ้นร่วมกับมีอาการชัก ปากเขียว ไม่รู้สึกตัวจึงรับไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้ทำการใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่งตรวจน้ำไขสันหลัง ไม่พบเชื้อไข้สมองอักเสบ ประวัติการเจ็บป่วยย้อนหลังพบว่า เด็กรายนี้เคยมีอาการไข้สูง และชัก เมื่ออายุ 8 เดือน แต่ในวันที่ไปรับวัคซีนไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด นพ.สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนที่ฉีดให้เด็กทุกชนิดนั้น เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐานไม่มีสิ่งปนเปื้อนแต่อย่างใด และวัคซีนที่ทำให้น้องมิวมีไข้สูงและเกิดอาการชักเนื่องจากไข้สูง คือวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของตัวเด็กเองที่ตอบสนองต่อวัคซีน ซึ่งในแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อวัคซีนไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาได้ดูแลฟื้นฟูเด็กรายนี้อย่างต่อเนื่อง ด้านนพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ที่ใช้ในไทยขณะนี้มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ ชนิดไร้เซลล์สูตรเด็กเล็ก และชนิดไร้เซลล์สูตรเด็กโตที่อายุ 7 ปีขึ้นไป โดยเริ่มฉีดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป 3 เข็มแรกห่างกันเข็มละ 2 เดือน และเข็มที่ 4 ฉีดเมื่อเด็กอายุ 18 เดือน ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 – 6 ปี หลังฉีดวัคซีนแล้ว อาจมีไข้ และร้องกวนได้ บางรายอาจมีอาการปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะเริ่มหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 3 – 4 ชั่วโมง และมีอาการนานไม่เกิน 2 วัน ดังนั้นหลังจากเด็กได้รับวัคซีนแล้ว ขอให้พ่อแม่สังเกตอาการของเด็ก หากมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่ฉีด และให้กินยาแก้ปวด หากเด็กมีไข้สูงให้เช็ดตัวลดไข้ และกินยาลดไข้ หากมีไข้สูงมากจนมีอาการชัก ให้จับหน้าเด็กหันตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก และรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล ****************************17 พ.ย. 2552


   
   


View 11    17/11/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ