ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคอหิวาตกโรคคืนชีพในหน้าหนาว เนื่องจากมีเทศกาลฉลองมากมาย และภาวะโลกร้อนทำให้มีเชื้อโรคมากขึ้น ขยับประชิดชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชายทะเล ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ต้องระวังเป็นพิเศษ ย้ำเมนูเสี่ยงคืออาหารสุกๆดิบๆ ที่นิยมกินแกล้มเหล้าเบียร์ เช่นลาบ หอยแครงลวก จะต้องกินสุก หากลวกต้องลวกในน้ำเดือดนาน 1-2 นาที จะทำลายเชื้ออหิวาต์ได้ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีเทศกาลฉลองกันจำนวนมาก มักจะมีปัญหาโรคอุจจาระร่วงเกิดขึ้นเป็นประจำ ที่สำคัญในช่วงฤดูหนาวยังมักมีลานเบียร์ ซึ่งนิยมกินกับอาหารสุกๆดิบๆ โรคที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ อหิวาตกโรค (Vibrio Cholera) ซึ่งในปีนี้เริ่มพบผู้ป่วยในวงแคบบางพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม และต่อมาพบแพร่กระจายมาบางพื้นที่ของนราธิวาสและสงขลา ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นลูกเรือประมงต่างชาติ และสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากมีพฤติกรรมกินอาหารสุกๆดิบๆ และไม่สะอาด นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีส่วนทำให้เชื้อโรคมีมากขึ้นและเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนชายทะเล การพบผู้ป่วยดังกล่าว เป็นสัญญาณให้ต้องเร่งควบคุมป้องกัน ในระบบความสะอาดของสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ จัดระบบเฝ้าระวังโรคอหิวาตกโรคเป็นกรณีพิเศษ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมเวชภัณฑ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้พร้อม โดยเฉพาะการเตรียมการสื่อสารกับผู้ป่วยต่างด้าว เช่นพม่า กัมพูชา ลาว เพื่อให้การรักษาและควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดชายทะเล ได้สั่งการตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและป้องกันโรคที่จังหวัดปัตตานี มอบให้นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการเป็นผู้บัญชาการศูนย์ ลงควบคุมโรคในพื้นที่ให้สงบโดยเร็วที่สุด ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมโรคใน 3 จังหวัดข้างต้นนี้ มาตรการสำคัญ คือ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะลูกเรือประมง ผู้ค้าขายอาหารทะเล การเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์ในอาหารทะเล น้ำ น้ำแข็ง จัดให้มีการใช้ส้วมร้อยเปอร์เซ็นต์ เติมคลอรีนในน้ำใช้ให้สูงกว่ามาตรฐานคือ 0.5-1 พีพีเอ็ม (1ส่วนในล้านส่วน) ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เน้นความสะอาด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กินอาหารสุก ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำ จากการตรวจเชื้ออหิวาต์ที่พบครั้งนี้ สามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาหายขาดได้ และอาการของโรคส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่ต้องระวังในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จะต้องได้รับการรักษาทันที เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว กรมควบคุมโรคได้ส่งคลอรีนเม็ด ยาปฏิชีวนะ ผงน้ำตาลเกลือแร่ จัดทำเอกสารคำแนะนำกลุ่มเสี่ยงชาวต่างด้าว 3 ภาษาคือพม่า ลาว กัมพูชา และส่งทีมสอบสวนโรคจากสำนักระบาดวิทยาลงไปดำเนินการตั้งแต่เริ่มพบผู้ป่วย ขณะนี้สถานการณ์ชะลอลง จำนวนผู้ป่วยลดลง สำหรับเมนูที่เสี่ยงต่ออหิวาตกโรคคือเมนูสุกๆดิบๆ ที่นิยมกินแกล้มเหล้าเบียร์ เช่นลาบ หอยแครงลวกไม่นานพอ จะต้องกินสุกจึงจะปลอดภัย จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า เชื้ออหิวาต์เป็นเชื้อที่มีอยู่ในธรรมชาติ อยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย โดยเชื้ออหิวาต์ จะเกาะอยู่กับแพลงก์ตอน เมื่อสัตว์ทะเลกินแพลงก์ตอน จะทำให้ตรวจพบเชื้ออหิวาต์ในสัตว์เหล่านี้ได้ ถ้าคนกินอาหารทะเลแบบดิบๆหรือสุกๆดิบๆ ก็จะเกิดโรคได้ ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะตายง่ายหากถูกแสงแดดหรือความร้อน แต่หากอยู่ในน้ำกร่อย น้ำทะเล จะมีชีวิตได้นานเป็นปี ดังนั้นในการกินอาหารทะเลให้ปลอดภัยจะต้องกินสุกเท่านั้น จากการวิจัยเมนูอาหารทะเลโดยการลวกหรือต้ม อบ ปิ้ง พบว่าจะต้องลวกต้มในน้ำเดือดพล่านนาน 1-2 นาที หากอบจะต้องใช้เวลานาน 5 นาที ถ้านึ่งต้องใช้เวลานาน 7 นาที จึงจะทำลายเชื้ออหิวาต์ ได้ทั้งหมดและยังคงความอร่อยเหมือนเดิม ไม่ทำให้เสียรสชาติ **************************************** 19 พฤศจิกายน 2552


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ